วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ที่ห้องประชุมร่มฉัตร ชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม นายวรรณพล ต่อพล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการอนุญาตผลิตกัญชง (แฮมพ์) จังหวัดนครพนม ครั้งที่ 4/2565 และคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการขออนุญาตผลิตกัญชา จังหวัดนครพนม ครั้งที่ 5/2565 เพื่อร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบคำขออนุญาตผลิต (เฉพาะปลูก) ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (เฉพาะกัญชา) จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย วิสาหกิจชุมชนปลูกพืชสมุนไพรตำบลดอนเตย อำเภอนาทม (โครงการปลูกกัญชาสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์) ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต้าย ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปสมุนไพร อำเภอโพนสวรรค์ (โครงการต่อยอดกัญชาครัวเรือน 6 ต้นสู่เศรษฐกิจชุมชน) และของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอุ่มเหม้า ที่ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนพืชทางเลือก อำเภอธาตุพนม (โครงการปลูกกัญชาสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์) และร่วมกันพิจารณาคำขอรับอนุญาตผลิต (ปลูก) ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชง จำนวน 1 คำขอของนายสมบัติ วิลัย ตำบลโพนทอง อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม ซึ่งในที่ประชุมได้มีมติอนุญาตให้ผลิตได้ทั้ง 4 คำขอ ทำให้ปัจจุบันจังหวัดนคร พนมมีสถานที่ที่ได้รับใบอนุญาตปลูกกัญชา รวมทั้งสิ้น 42 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการออกใบอนุญาต 6 แห่ง ส่วนสถานที่ที่ได้รับใบอนุญาตปลูกกัญชง มี 7 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการออกใบอนุญาต 1 แห่ง
ทั้งนี้คณะกรรมการยังได้ฝากถึงประชาชนที่มีความประสงค์จะปลูกกัญชาและกัญชง ตามที่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิถุนา ยน 2565 ซึ่งจะมีผลให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่ใช่ยาเสพติดประเภท 5 ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2% ยังเป็นยาเสพติด ในเรื่องการปลูกนั้น ผู้ที่ต้องการปลูกสามารถปลูกได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมจะนำมาใช้ในการจดแจ้งการปลูกกัญชาเพื่อดูแลสุขภาพสำหรับประชาชนทั่วไป รวมทั้งการขออนุญาตปลูกในเชิงพาณิชย์ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ส่วนการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง และส่วนอื่น ๆ ของพืช เช่น ช่อดอก ใบ กิ่ง ก้าน ไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด แต่ต้องขออนุญาตนำเข้าตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 หากเป็นสารสกัดที่นำเข้าจากต่างประเทศ จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด.
Discussion about this post