
วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ที่ชุมชนช่างเคี่ยน 1 ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายคเชน เจียกขจร นายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือก พร้อมผู้บริหาร ได้ตรวจเยี่ยมชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วม หลังน้ำป่าจากดอยสุเทพไหลลงสู่ลำห้วยช่างเคี่ยนจนล้นเอ่อ ไหลท่วมชุมชนดังกล่าว ซึ่งระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม หรือ 2 วันที่ผ่านมา พร้อมนำถุงยังชีพ ผ้าห่ม มุ้ง แจกผู้ประสบภัยดังกล่าว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนโดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วใมง
นายคเชน เผยว่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบนดอยสุเทพกว่า 70-80 มิลลิเมตร ทำให้เกิดน้ำป่าไหลลงสู่ลำห้วยช่างเคี่ยน จนล้นเอ่อไหลท่วมชุมชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งลำห้วย โดยเฉพาะชุมชนช่างเคี่ยน 1ที่มีลำห้วยไหลผ่าน ซึ่งบางจุดระดับน้ำสุงกว่า 1 เมตร ทำให้บ้านเรือนและทรัพย์สินเสียหาย ประกอบกับคลองชลประทาน มีน้ำฝนไหลลงเต็มคลอง ทำให้การระบายน้ำจากชุมชนใช้เวลานานกว่าปกติ แม้ใช้เครื่องสูบน้ำติดตั้งระบายน้ำ 4-5 จุด แต่ระบายไม่ทันเนื่องจากระดับน้ำในชุมชนเพิ่มระดับสูง 1 เซนติเมตร/วินาที ประกอบกับคลองชลประทานและน้ำท่วมขังในชุมชนอยู่ในระดับเดียวกัน ส่งผลให้การระบายน้ำลงช้า แต่ได้ระบายน้ำลงคลองชลประทาน จนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

“ได้สำรวจมีบ้านเรือนและทรัพย์สินเสียหาย 112 หลังคาเรือน มีผู้ประสบภัยรวมกว่า 400 คน เบื้องต้นได้นำอาหารและน้ำดื่มแจกจ่ายผู้ได้รับผลกระทบแล้ว พร้อมให้เจ้าหน้าที่กองสาธารณสุข ออกทำความสะอาด เก็บขยะและทรัพย์สินที่เสียหายนำไปกำจัด ซึ่งล่าสุด ได้เข้าร่วมประชุมกับนายประจญ ปรัชญสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะสั้นโดยผู้ว่าฯ ได้มอบให้เทศบาล ประสานกับโยธาธิการและผังเมืองชลประทาน โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่ม เพื่อระบายน้ำบริเวณประตูน้ำเหล่าหัว จากห้วยช่างเคี่ยนไหลลงคลองชลประทานโดยเร็วที่สุดแล้ว” นายคเชน กล่าว
นายคเชน กล่าวอีกว่า ได้ดำเนินการขุดคลองลำห้วย และลำเหมืองสาธารณะ พร้อมดูดโคลนท่อระบายน้ำ เนื่องจากมีฝนตกตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM 2.5 ลดลงตามลำดับ ส่วนการแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาว ต้องเสนอแผนโครงการต่อคณะกรรมการระดับจังหวัด พิจารณาเพื่อของบประมาณ โดยเฉพาะระบบการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เพื่ออพยพผู้ประสบภัยไปอยู่ที่ปลอดภัยและขนย้ายทรัพย์สิน หรือสิ่งของได้ทันเวลา เนื่องจากฝนที่ตกบนดอยสุเทพเกินกว่าคาดการณ์ มีปริมาณฝนสะสมจำนวนมากทำให้ดินอุ้มน้ำไม่ไหว ก่อนกลายเป็นน้ำป่าไหลลงสู่ชุมชนในเขตเทศบาล
/////////////////////////////
Discussion about this post