วันที่ 24 พ.ค. 2565 ที่ ห้องประชุมเพชรสมุย สำนักงานเทศบาลนครสมุย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมติดตามและผลักดันการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า โดยมี นายสัตวแพทย์ธนวัฒน์ พันธุ์สนิท ปศุสัตว์เขต 8 นายเดชา จิตรภิรมย์ ปศุสัตว์จังหวัดสุราษฎร์ธานี นางสุภัตรา เลี่ยมรัตน์ นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ รักษาการประชาสัมพันธ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยพบการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์อยู่ที่ร้อยละ 4.9 ในพื้นที่ 16 จังหวัด พบผลบวกต่อโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์รายวันเฉลี่ยอยู่ที่ 0.7 ตัวต่อวัน โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ยังไม่พบการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งกรมปศุสัตว์ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดนโยบายในการเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทย ภายใต้โครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี” โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยไม่พบโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งในคนและสัตว์โดยเร็วที่สุด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อการดำเนินงานตามมาตรการอย่างเข้มแข็ง พร้อมกับสร้างจิตสำนึกในการเลี้ยงสัตว์แก่ประชาชนในพื้นที่ ร่วมกับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อควบคุม ป้องกัน และเฝ้าระวังการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในทุกพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ร่วมกับกรมควบคุมโรค และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดทำคู่มือและหลักเกณฑ์ในการประเมินและรับรองพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อใช้ในการประเมินและรับรองพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ในระดับท้องถิ่นให้เป็นหนึ่งเดียวกันโดยได้มีการคัดเลือกพื้นที่ผลักดันนำร่องเพื่อประเมินและรับรองพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าให้ได้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2565 จำนวนทั้งสิ้น 9 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากทุกพื้นที่ปศุสัตว์เขต โดยมีพื้นที่เทศบาลนครเกาะสมุย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องดังกล่าว และเพื่อให้การสร้างพื้นที่ปลอดโรค พิษสุนัขบ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน การดำเนินงานของทุกภาคส่วนจึงควรที่จะต้องสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ต่อไป
Discussion about this post