เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมการปฏิรูปฯ ด้านการศึกษา และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดความสำเร็จภารกิจบิ๊กร๊อกสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ติดตามความคืบหน้า“สมุทรสาครโมเดล” ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กสศ. ภาคีเครือข่าย และจังหวัดสมุทรส าคร มุ่งฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ พร้อมเยี่ยมชมความสำเร็จของห้องเรียนต้นแบบ Learning Recovery Labz เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาคุณภาพตนเอง กสศ. ที่ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อฟื้นฟูกระบวนการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาและป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบ ก่อนเตรียมนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยว่า วิกฤตโควิด-19 สองปีที่ผ่านมาได้สะท้อนปัญหาช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยให้ชัดเจนขึ้น อันเป็นภารกิจสำคัญที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้กำหนดกรอบนโยบายแผนปฏิรูปการศึกษา 5 Big Rocks ในการสร้างความเสมอภาคและยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นการตรวจเยี่ยมสถานศึกษาเพื่อติดตามสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนหลังเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 และติดตามความคืบหน้าโครงการวิจัยนำร่องฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย หรือ “สมุทรสาครโมเดล” พร้อมเยี่ยมชมห้องเรียนต้นแบบ Learning Recovery Labz ที่โรงเรียนบ้านยกกระบัตร จังหวัดสมุทรสาครโมเดล เพื่อเน้นย้ำความร่วมมือและการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านนายอาวุธ วิเชียรฉาย ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า จากรายงานฉบับล่าสุดขององค์การยูเนสโก องค์การยูนิเซฟ และธนาคารโลก พบว่าเด็กนักเรียนเกือบทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะถดถอยทางความรู้ ทักษะขั้นพื้นฐานในทุกมิติที่เด็กๆ ได้สะสมไว้กำลังหายไป เป็นผลจากการปิดโรงเรียนอย่างยาวนานในช่วงโควิด-19 จึงเป็นความท้าทายของทุกฝ่ายที่ต้องเดินหน้าแก้ไขภาวะถดถอยทางการเรียนรู้อย่างจริงจัง เพื่อเร่งฟื้นฟูการเรียนรู้ที่สูญเสียไปให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด ด้วยการนำแนวทางการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้ความสำคัญต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนการเรียนการสอนใน 3 มิติ คือ การเสริมสร้างความรู้ การส่งเสริมทักษะชีวิตหรือทักษะทางสังคม และการสนับสนุนให้สถานศึกษาดำเนินการปรับพื้นฐานให้แก่ผู้เรียนทั้งก่อนและหลังเปิดภาคเรียน
สำหรับโรงเรียนบ้านยกกระบัตร จ.สมุทรสาคร เป็นหนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนต้นแบบฟื้นฟูการเรียนรู้ สมุทรสาครโมเดล จาก 40 โรงเรียนนำร่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจฟื้นฟูการศึกษาหรือ Learning Recovery ภายใต้ความร่วมมือของจังหวัดสมุทรสาคร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ องค์การยูนิเซฟ ประเทศ ไทย มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม และสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีเป้าหมายมุ่งช่วยเหลือให้เด็กและเยาวชนทุกคนได้เข้าถึงการศึกษา มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี และได้รับการชดเชยการเรียนรู้ที่สูญเสียไปในช่วงการปิดโรงเรียน รวมถึงครูทุกคนต้องได้รับการอบรมเตรียมความพร้อม สามารถบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ นำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมการเรียนรู้มาผสมผสานในการจัดการเรียนการสอน เพื่อจัดการเรียนรู้ซ่อมเสริมที่ตรงกับความต้องการของเด็กแต่ละคน เพื่อถอดบทเรียนที่ได้และนำไปต่อยอดและวางแผนฟื้นฟูภาวะถดถอยทางความรู้ในโรงเรียนทั่วประเทศต่อไป
“ต้องยอมรับว่า วิกฤตโรคระบาด ได้สร้างโลกแห่งการเรียนรู้ใหม่ การปรับตัวของครูและบุคลากรทางการศึกษาได้เอื้อให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ที่เป็นนวัตกรรม และจะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางการศึกษา โครงการนี้จะนำไปสู่การออกแบบมาตรการสนับสนุนครูและโรงเรียนให้สามารถรับมือกับพันธกิจฟื้นฟูการเรียนรู้ รวมถึงการวางทิศทางพัฒนาและปฏิรูปคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ (School Transformation) ของจังหวัด โดยมีเป้าหมายคือผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน โอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้ของเด็กทุกคน และการเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งหัวใจของเรื่องนี้อยู่ที่โรงเรียน ครู และผู้บริหารทุกท่าน” นายอาวุธ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ใน 4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์ https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https:// web.facebook.com/Thaiedreform2022 ยูทูบช่อง ‘thaiedreform2022’ และทวิตเตอร์ https://twitter.co.m/Thaiedreform22
Discussion about this post