เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 เวลา 10.00 น. ณ โครงการหลวงบ้านปางยาง ตำบลภูคา อำเภอปัว จังหวัดน่าน นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พันตำรวจโท พงศ์อินทร์ อินทรขาว ที่ปรึกษาโครงการอำนวยความเป็นธรรม นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสหวิทยาการคดีพิเศษ นายธีรภัทร แก้วจุนันท์ รองผู้อำนวยการกองนโยบายและยุทธศาสตร์ และเจ้าหน้าที่สำนักงานสหวิทยาการคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยมีนายสมเกียรติ อาจสังข์ นายอำเภอปัว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เดินทางลงพื้นที่บ้านปางยาง ตำบลภูคา อำเภอปัว จังหวัดน่าน เพื่อแก้ไขปัญหาสารอันตรายปนเปื้อนลำน้ำย่างและการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนจังหวัดน่าน
ตามโครงการอำนวยความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมกรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายภาคประชาชน ดีเอสไอ ว่ามีกลุ่มชาวบ้านทำการบุกรุกพื้นที่ต้นน้ำปางยาง อำเภอปัว จังหวัดน่าน เนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ และมีการใช้สารอันตรายในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารพิษลงในลำน้ำย่าง ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ด้านล่างได้รับความเดือดร้อน ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการสืบสวนแล้วไม่พบว่ามีการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ จึงได้ยุติการสืบสวน แต่ชาวบ้านยังคงได้รับความเดือดร้อนอยู่ โครงการอำนวยความเป็นธรรมด้านความมั่นคง ซึ่งดำเนินการตามนโยบายยุติธรรมสร้างสุข จึงได้ร่วมกับฝ่ายปกครอง ได้แก่ อำเภอปัว อุทยานแห่งชาติดอยภูคา โครงการหลวง นักวิชาการ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามารับฟังและร่วมแก้ไขปัญหา ดังนี้ ด้วยที่เกษตรกรที่ทำกินในพื้นที่ 300 ไร่ ได้ยินยอมย้ายที่ทำกินลงมาพื้นที่ด้านล่าง อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าปรับปรุงแปลงพื้นที่ปลายน้ำ ที่กลุ่มเกษตรกรย้ายลงด้านล่าง โครงการหลวง ได้สนับสนุนเตรียมมอบกล้าไม้ผล เกษตรกรรายที่ไม่มีพื้นที่ทำกิน ได้แสดงความต้องการที่จะเลี้ยงวัว กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้ทำโครงการรับบริจาคเงินจากผู้มีจิตศรัทธานำไปไถ่ชีวิตวัว และจะได้มอบวัว จำนวน 5 ตัว ให้แก่เกษตรกร ทราบว่าขณะนี้ได้ตกลูกอีก 1 ตัว รวมเป็น 6 ตัว
นายไตรยฤทธิ์ฯ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ปัญหาด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย “ยุติธรรมสร้างสุข” มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้นำแนวคิดจากนโยบาย “ยุติธรรมสร้างสุข” มาพิจารณาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการบำบัดทุกข์ให้กับประชาชน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง นอกจากภารกิจหลักในการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ยังคงบริหารงานในการอำนวยความเป็นธรรม การแก้ปัญหาชุมชนสองพื้นที่ที่ขัดแย้งให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ เกษตรกร ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่ต้องใช้สารอันตราย มาเป็นอาชีพการปลูกไม้ผลและปศุสัตว์ เลี้ยงวัวและไก่ เสริมรายได้เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล
Discussion about this post