
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565 ที่ สหกรณ์สุราษฎร์ธานี จำกัด (CO-OF) อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายชาตรี อารีวงศ์ ผอ.กองชั่งตวงวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมปล่อยขบวนรถเครื่องชั่งตวงวัด ตามโครงการ “บูรณาการตรวจสอบเครื่องชั่งรถยนต์รับซื้อปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้” ปูพรมระดมตรวจเข้มเครื่องชั่งรถยนต์รับซื้อปาล์มน้ำมันพื้นที่ภาคใต้ป้องสิทธิ์ให้เกษตรกรชาวสวนปาล์ม
นายอาวุธ กล่าวว่า กรมการค้าภายในได้ให้ความสำคัญแก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายในการซื้อขายปาล์มน้ำมันตามลานรับซื้อทั่วเขตพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากในเขตพื้นที่ภาคใต้มีการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันเป็นจำนวนมาก ซึ่งปาล์มน้ำมันถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ทั้งในภาคธุรกิจพลังงานและภาคอุตสาหกรรมนำมาแปรรูปเป็นน้ำมันพืชสำหรับปรุงอาหาร หรือนำมากลั่นเป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำมันดีเซล ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้นั้น มีลานรับซื้อปาล์มน้ำมัน จำนวนกว่า 3,000 แห่ง กรมฯ จึงได้บูรณาการตรวจสอบเครื่องชั่งรถยนต์รับซื้อปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ โดยดำเนินการปูพรมระดมสายตรวจเฉพาะกิจทั่วประเทศออกตรวจสอบเครื่องชั่ง จัดชุดสายตรวจ จำนวน 10 สาย พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ( ปคบ. ) ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน ถึง 8 กรกฎาคม 2565 ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร และกระบี่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีลานรับซื้อปาล์มน้ำมันรวมกันทั้งสิ้น 2,147 แห่ง

ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบการใช้เครื่องชั่งที่สิ้นอายุคำรับรองหรือไม่ผ่านการตรวจสอบให้คำรับรอง เจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติชั่งตวงวัด พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในมาตรา 25 ซึ่งมีบทกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 20,000 บาท และหากผู้ประกอบการรายใด นำเครื่องชั่งไปทำการดัดแปลงแก้ไขเพื่อให้น้ำหนักผิดเพี้ยนไปจากที่เจ้าหน้าที่ได้ตรวจรับรองไว้ จะมีความผิดตามมาตรา 75 มาตรา 75/1 และมาตรา 76 มีบทกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 280,000 บาท สำหรับกรมการค้าภายในเชื่อมั่นว่า การออกตรวจสอบในครั้งนี้จะช่วยให้เกษตรกรที่นำผลปาล์มไปขายได้รับความเป็นธรรมในการขายผลผลิตทางการเกษตร และชาวเกษตรกรสามารถสังเกตจากสติ๊กเกอร์ตรวจสอบประจำปีของกองชั่งตวงวัด และหนังสือสำคัญแสดงการให้คำรับรองประจำเครื่องชั่งตวงวัด และหากเกษตรกรพบเห็นหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมในการใช้เครื่องชั่งซื้อขายสินค้าเกษตร สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ
////รัตติยา พูลศิริ/สุราษฎร์ฯ////
Discussion about this post