
วันนี้ (26 ก.ค. 2565) เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านบุรีรัมย์ ม.1 ต.ในวงเหนือ อ.ละอุ่น จ.ระนอง เกษตรกรชาวสวนผลไม้บ้านในวง ได้แสดงความขอบคุณหน่วยงาน องค์กร และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนยกเลิกสัมปทานเหมืองหินในพื้นที่ นำโดยนางศศิธร นวลน้อย หรือป้าต้อย เกษตรกรชาวสวนผลไม้ และสมาชิก โดยมีนายธวัช ใจดี ผู้ช่วย ส.ส. ระนอง สหกรณ์จังหวัดระนอง และตัวแทนจากภาคส่วนร่วมงาน
นางศศิธร นวลน้อย หรือป้าต้อย กล่าวว่า วันนี้อยากจะแสดงความขอบคุณทุกคน ทุกภาคส่วน ซึ่งอาจจะดูไม่เป็นทางการนัก ด้วยการเชิญมาร่วมชิมทุเรียน GI บ้านในวง ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง และส่งมอบกลับไปให้แทนคำขอบคุณ ที่ได้ร่วมกันผลักดันจนวันนี้บ้านในวงจะไม่มีใครคิดเข้ามาทำเหมืองหินอีกต่อไป
นายสมชาย ทิศกระโทก เกษตกรบ้านในวงกล่าวว่า ชาวบ้านในวงได้แสดงเจตจำนงมานานนับสิบปี ว่าไม่ต้องการให้มีการทำเหมืองหินในพื้นที่ เพราะจะไปกระทบกับวิถีชีวิตและการทำเกษตรกรรม โดยตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ต้องขอบคุณหลายภาคส่วนที่ช่วยกันขับเคลื่อนและผลักดัน ทั้งเครือข่ายในพื้นที่ ส.ส.ระนองและทีมงาน สำนักงานศิลปากร สำนักงานธรณีวิทยา สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานอุตสาห กรรม สำนักงานวัฒนธรรม และทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวผู้ประกอบการเหมืองเองที่เข้าใจจนยอมถอนใบขอประทานบัตรไปจนหมดแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านดีใจและมีความสุขมากที่สุด

นายธวัช ใจดี ผู้ช่วย ส.ส.ระนอง กล่าวว่า วันนี้ในนาม ส.ส.ระนอง รู้สึกดีใจแทนชาวบ้านที่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้เพื่อคัดค้านการทำเหมืองหินในพื้นที่ ซึ่งเมื่อครั้งที่ ส.ส. ระนอง ดำรงตำแหน่งเป็นนายก อบจ. อาจจะไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ผลักดันเรื่องนี้ได้มากนัก แต่เมื่อได้ไปเป็น ส.ส. ก็ได้เข้าไปขับเคลื่อนในชั้นคณะกรรมาธิการ และประสานงานส่งต่อข้อมูลให้กับทุกภาคส่วน เพื่อให้สิ่งที่ชาวบ้านในวงต้องการความสำเร็จ และขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันขับเคลื่อนด้วย
สำหรับพื้นที่บ้านในวงประกอบด้วย 2 ตำบล คือ ตำบลในวงเหนือ และตำบลในวงใต้ ชาวบ้านเกือบทั้งหมดเป็นเกษตรกร พืชผลที่สำคัญในพื้นที่คือ ทุเรียน และมังคุด ซึ่งสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ปีละไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท อีกทั้งพื้นที่ที่จะมีการทำเหมืองหินนั้นก็เป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณ คดีที่สำคัญ ที่มีการพบของใช้โบราณ รวมถึงซากฟอสซิลสัตว์ทะเลต่าง ๆ อีกมากมายด้วย.
Discussion about this post