
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พร้อมคณะ เดินทางไปตรวจราชการพื้นที่จังหวัดน่าน ประชุมรับฟังบรรยายสรุปความเสียหายของพื้นที่จังหวัดน่านที่ได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชั่น ”มู่หลาน” และติดตามความก้าวหน้าของนโยบายรัฐบาล ประกอบด้วย ข้อมูลและสถานการณ์น้ำจังหวัดน่าน การแก้ไขปัญหาน้ำหลากจังหวัดน่าน สรุปความเสียหายของพื้นที่การขอรับการจัดสรรงบประมาณในการแก้ไขปัญหาในภาพรวม ณ ที่ห้องประชุมเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ศาลากลางจังหวัดน่าน มีนายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวต้อนรับและสรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ซึ่งจังหวัดน่านได้รับผลกระทบจากพายุมู่หลานระหว่างวันที่ 11 ถึง 15 สิงหาคม 2565 เกิดความเสียหายจำนวน 13 อำเภอ 61 ตำบล และ 368 หมู่บ้าน โดยทางจังหวัดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือไปแล้ว อำเภอละ 300,000 บาทรวมเป็นเงินกว่า 5 ล้าน 5 แสนบาทคงเหลือในอำนาจของผู้ว่าอีกประมาณ 10 ล้านบาท ที่ผ่านมามูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภา) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้มอบสิ่งของพระราชทานช่วยเหลือประชาชน ผู้ประสบภัยไปแล้ว 2 ครั้งในการนี้จังหวัดได้เสนอขอขยายวงเงินทดรองราชการไปยังกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพิ่มเติมขณะที่สิ่งสาธารณูปโภคที่เสียหายที่จำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซมก่อสร้างใหม่
จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและคณะฯเดินทางไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลไชยสถาน เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการก่อสร้างฝายกั้นลำน้ำซาว บ้านศรีเกิด อ.เมืองน่าน จากนั้นเดินทางไปยังพื้นที่ตำบลบ่อ อ.เมืองน่าน บริเวณสะพานที่ขาดจากอิทธิพลพายุมู่หลาน เพื่อรับฟังการนำเสนอข้อมูลความเสียหายและการจัดสรรงบประมาณในการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุดีเปรสชั่น ”มู่หลาน”และพบปะประชาชนพร้อมมอบสิ่งของช่วยเหลือให้กับผู้แทนประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ จำนวน 1,000 ชุด ณ ศาลาอเนกประสงค์บ้านบ่อ

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลกระทบจากพายุมู่หลาน ส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินประชาชนอย่างมาก รัฐบาลห่วงใยประชาชน ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เพื่อให้ประชาชน ใช้ชีวิตได้ตามปกติ และเร่งฟื้นฟูให้คืนสภาพโดยเร็ว ขณะเดียวกันขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำแผนแก้ไขปัญหาระยะสั้น และระยะยาว ดังนี้ ขอให้ สทนช. กรมชลประทาน และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดทำแผนปฏิบัติการ ดำเนินการตามแผนรับมือฤดูฝน 13 มาตรการ และดำเนินการตามแผนเร่งแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างรวดเร็วที่สุดตามแผนที่วางไว้ ขอให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างการรับรู้ และให้การช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วที่สุด หากเงินไม่พอให้ขอขยายงบประมาณ ในส่วนของจังหวัดน่านและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน ให้เร่งแก้ปัญหาช่วยเหลือผู้ประสบภัย 2 ส่วน คือ ในส่วนของอำนาจจังหวัดที่ดำเนินการได้ ให้เร่งดำเนินการ ส่วนที่เกินกว่าอำนาจของจังหวัด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้เดือดร้อน หรือเดือดร้อนน้อยที่สุด เพื่อให้เกิดความผาสุกที่แท้จริงแก่ประชาชน ขณะเดียวกันมีบางโครงการที่จะต้องเข้าไปดำเนินการในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ขอให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่านอำนวยความสะดวกให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
สำหรับกรมทางหลวง ให้เร่งรัดก่อสร้างสะพานปากนายและวางแผนการใช้เงินโดยในระยะแรกได้รับงบประมาณในการศึกษา ผลกระทบสิ่งแวดล้อม 30 ล้านบาทให้เร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
ในขณะเดียวกัน นายวรายุทธ เขียวปัญญา กำนันตำบลฝายแก้ว ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอภูเพียง เลขานุการสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดน่าน ได้เป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนยื่นหนังสือต่อ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อเสนอปัญหาและความต้องการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เพื่อสร้างพนังกั้นน้ำบริเวณฝั่งบ้านหัวเวียงเหนือ ตลอดถึงการสร้างแก้มลิง อันเป็นเหตุให้น้ำท่วมฝั่งพื้นที่ลุ่มต่ำของย่านบ้านหัวเวียงเหนือ ชุมชนบ้านน้ำล้อม มณฑลทหารบกที่ 38 และโรงพยาบาลน่าน และย่านเศรษฐกิจการค้าใหญ่ของจังหวัดน่าน ในครั้งนี้ด้วย
@@@@@@@@@
ประสิทธิ์ สองเมืองแก่น
Discussion about this post