
วันที่ 16 กันยายน 2565 ณ ร.17 พัน 4 (ค่ายขุนจอมธรรม) อ.เชียงคำ จ.พะเยา ทางเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานได้ใช้เวลาหลังรับราชการต่อยอดโครงการทหารพันธุ์ดีชูการเลี้ยงตามความต้องการของตลาดสร้างรายได้สู่กำลังพล โครงการทหารพันธุ์ดีเกิดขึ้นโดยพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งให้ทหารทั่วประเทศได้ริเริ่มทดลองการปลูกผักสวนครัวตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ในหลายแห่งเริ่มให้กำลังพลปรับภูมิทัศน์ภายในค่ายทหารเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และการเรียนรู้ในเรื่องของการปลูกพืชผักและการเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้เวลาหลังรับราชการไม่ได้ทิ้งเสียเปล่าโดยไม่เกิดประโยชน์ พบว่า โครงการดังกล่าวสามารถต่อยอดพัฒนาให้เป็นที่ต้องการของตลาดรวมทั้งชาวบ้านที่สนใจได้อีกขั้น โดยการที่กำลังพลได้ศึกษาค้นคว้าในเรื่องการเลี้ยงสัตว์และการปลูกผักในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ตัวเองถนัด ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มนกกระทา การเลี้ยงกบ การเลี้ยงวัว – ควาย สายพันธุ์อนุรักษ์ หรือแม้กระทั่งการเลี้ยงปลารวมไปถึงการเพาะเลี้ยงด้วงสาคูด้วยเช่นกัน
ด้าน ร.ท.จิรพงษ์ ชัชรินทร์กุล นายทหารรับราชการภายในค่ายแห่งนี้ได้เล่าว่า เมื่อก่อนภายในค่ายได้เพียงมีการปลูกผัก ปลูกข้าว ทำกันแบบนี้ในทุก ๆ ปี ทำให้รายได้ที่จะเข้าสู่กำลังพลรวมทั้งค่าต่าง ๆ ภายในค่ายดูอาจจะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งตนเองด้วยมีความสนใจในเรื่องของการเลี้ยงสัตว์จึงได้ปรึกษากับทางผู้บังคับบัญชาและก็พบว่าเราสามารถต่อยอดขึ้นไปได้อีกในกรอบของโครงการทหารพันธุ์ดีนี้ และหลังจากนั้นตนเองได้ลองศึกษาค้นคว้าในยูทูปและกูเกิลด้วยสื่อทางโซเชี่ยลก็พบว่านกกระทาหน้าจะตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้ด้วยเพราะในพื้นที่ของ อ.เชียงคำ นั้นแทบจะไม่เห็นฟาร์มเลี้ยงนกกระทาแม้แต่เจ้าเดียว ตนจึงได้เริ่มศึกษาอย่างจริงจังในระยะเวลาถึง 2 เดือนด้วยกัน หลังจากนั้นก็เดินทางไปที่ ดอยหลวง จ.เชียงราย เพื่อทำการศึกษาของจริงและได้ทดลองซื้อพ่อ- แม่พันธุ์มาจำหนวนหนึ่ง แต่หลังจากลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้งสุดท้ายก็พบว่าการเลี้ยงนกกระทานั้นไม่ยากอย่างที่หลายคนเข้าใจอาจจะมีบ้างตอนเลี้ยงใหม่ ๆ แล้วนกกระทามีการตายลง แต่ด้วยการศึกษาอย่างจริงจังที่ตนอยากทดลองทำแล้วสุดท้ายก็ประสบความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึง ด้วยการจำหน่ายไข่นกกระทานั้นพบว่าเป็นที่ต้องการของทั้งกำลังพลและชาวบ้านที่รู้ข่าวหลังจากที่ตนโฆษณาลงกลุ่มสื่อโซเชี่ยลต่าง ๆ การจำหน่ายจะอยู่ที่ 50 ฟอง 60 บาท และ 100 ฟอง อยู่ที่ 120 บาท แต่การเก็บไข่นั้นจะเก็บได้เพียง 9 เดือนหลังจากนั้นนกกระทาจะถูกขายออกไปเป็นนกเนื้อเพราะจะไม่คุ้มในการเลี้ยง อีกทั้งไข่ที่ออกมาจะไม่ได้มาตรฐานตามความต้องการที่ลูกค้าพึงพอใจด้วย ในช่วงเวลาเก็บไข่จะอยู่ที่ประมาณ 17.00 – 18.00 น.ซึ่งเป็นเวลาที่ตนเองได้เลิกงานแล้ว นับเป็นสิ่งที่ตนเองดีใจที่เวลานี้การตลาดได้มีความต้องการอย่างมากเช่นกัน

ด้าน จ.ส.อ.ณรงฤทธิ์ ชิดสนิท อีกหนึ่งนายทหารที่ใช้เวลาว่างรับราชการต่อยอดการเลี้ยงควายไทย ได้กล่าวว่า โครงการทหารพันธุ์ดีที่เกิดขึ้นนั้นเราสามารถศึกษาและพัฒนาต่อยอดได้อยู่เรื่อย ๆ แม้กระทั่งการเลี้ยงควายสัตว์ที่เป็นพาหนะคู่คนไทยมาช้านานจนปัจจุบันพบว่ามีการเพาะสายพันธุ์ใหม่ ๆ จนเป็นความสวยงามหรือควายอนุรักษ์จนตนเองได้ตั้งชมรมภายในค่ายขึ้นว่า “ชมรมเลี้ยงควาย” ด้วยการเลี้ยงที่ไม่ยุ่งยาก อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ไม่ให้สูญพันธุ์ด้วย นอกจากนี้ควายบางตัวเป็นสายพันธุ์อนุรักษ์ที่สวยงามซึ่งในเวลานี้มีการซื้อขายกันในราคาหลักล้านด้วย นอกจากนี้ในการเยงนั้นแทบจะไม่ยุ่งยากเลยความสามารถกินหญ้าหาอาหารในรูปแบบชนบทได้โดยง่าย ซึ่งไม่ต้องพึ่งอาหารราคาแพง ๆ อีกทั้งการเลี้ยงควายนี้ยังทำให้เราได้คิดถึงความหลังสมัยเด็ก ๆ รวมทั้งลูกหลานกำลังพลได้เห็นควายตัวเป็น ๆ ได้จับสัมผัส ได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันด้วย ซึ่งตนถือว่าอย่างน้อยการเลี้ยงดูนั้นก็ไม่ได้กระทบเวลารับราชการแต่อย่างใด โดยหลังเวลา 16.00 น.ไปแล้วก็จะเป็นเวลาที่ถอดเครื่องแบบเหมือนสามัญชนคนทั่วไปที่เอาเวลามาเลี้ยงดูควายโดยให้เกิดประโยชน์อันสูงสุดทั้งตัวเราและผู้พบเห็นด้วยเช่นกัน
ด้าน พ.ท.นพดล โตแทนสมบัติ ผบ.ร.17 พัน 4 ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการพันธุ์ดีนี้ใช้ว่าเราจะทำในรูปแบบเดิม ๆ เพียงแต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางเพื่อให้กำลังพลได้มีโอกาสใหม่ ๆ ในการเรียนรู้การเลี้ยงสัตว์รูปแบบต่าง ๆ โดยใช้เวลาหลังรับราชการให้เกิดประโยชน์อันสูงสุดด้วย ทั้งนี้การพัฒนาต่อยอดของโครงการนี้สามารถนำพื้นที่ที่ว่างเปล่าภายในค่ายนำมาใช้สอยให้เกิดประโยชน์ การขุดลอกคลองภายในค่ายก็สามารถกั้นให้เป็นพื้นที่เลี้ยงปลา เลี้ยงกบได้ หรือแม้กระทั่งการสร้างโรงเรือนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงนกกระทา การเลี้ยงด้วงสาคู หรือแม้กระทั่งการเลี้ยงวัว – ควายที่ตอนนี้มีเกือบ 40 ตัว ซึ่งจะเห็นได้ว่าการต่อยอดเหล่านี้สามารถทำให้ทหารที่เข้ามารับราชการไม่ว่าจะเป็นนายสิบ นายร้อย หรือพลทหารมีอาชีพติดตัวกันทั้งสิ้น ทั้งนี้ตนเชื่อว่าทหารเหล่านี้จะสามารถทำให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปนอกเหนือการรบในสนามอีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้สู่ครอบครัวกำลังพลโดยไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินให้เป็นที่เดือดร้อนอีกด้วย
(ภาพ/อุดมศักดิ์ ปินะดวง ข่าว/สราวุธ ตั้งประเสริฐ พะเยา )
Discussion about this post