ระหว่างวันที่ 3-4 ตุลาคม 2565 นักข่าวและช่างภาพจำนวน 18 คนจาก 11 สำนักข่าวได้ร่วมกันลงพื้นที่แม่น้ำโขงบริเวณผาได อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่เครือข่ายประชาชนริมแม่น้ำโขงร้องเรียนว่าอาจได้รับผลกระทบข้ามแดนจากโครงการสร้างเขื่อนปากแบ่งในประเทศลาวซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 96 กิโลเมตร
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ก่อนลงพื้นที่ได้รับฟังข้อมูลจากนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ นายมนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรการ น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers)
นายนิวัฒน์กล่าวว่า รัฐบาลเร่งรัดการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จากเขื่อนปากแบง ทั้งๆ ที่ยังไม่มีผลการศึกษาถึงผลกระทบข้ามแดนที่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องน้ำเท้อที่จะเข้ามาถึงแผ่นดินไทย ซึ่งจะทำให้เกาะดอนบริเวณผาได อ.เวียงแก่น ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งต้องถูกท่วมหายไปตลอด ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของท้องถิ่น แต่เป็นเรื่องของประเทศเพราะเป็นการสูญเสียแผ่นดินที่เคยใช้ประโยชน์
นายมนตรีกล่าวว่า หากมีการสร้างเขื่อนปากแบงจะทำให้มีน้ำเท้อเข้ามาในเขตประเทศไทยประมาณ 10 กิโลเมตร ทำให้เกาะแก่งบริเวณผาไดถูกท่วมหมด แม้จะมีการลดความสูงของสันเขื่อนลงจาก 345 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) เป็น 340 ม.รทก. ก็ตาม และจากการที่คณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎรได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปชี้แจง ได้รับคำตอบว่ายังไม่มีการทำรายงานผลกระทบข้ามแดนมายังฝั่งไทย
นายหาญณรงค์กล่าวว่า เคยมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็น 3-4 ครั้ง ตามกระบวนการแจ้งล่วงหน้าและปรึกษาหารือ (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง โดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งเมื่อประชุมร่วมกับลาวเมื่อปี 2560 ทางไทยได้แสดงความกังวลใจเรื่องผลกระทบข้ามแดนและน้ำเท้อมาถึง อ.เวียงแก่น และขอให้มีการปรับปรุง แต่เรื่องก็เงียบหายไปจนมีการเดินหน้าผลักดันโครงการเขื่อนปากแบงอีกครั้ง เครือข่ายชาวบ้านริมแม่น้ำโขงได้เคยทำหนังสือถึงสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน
น.ส.เพียรพรกล่าวว่า โครงการเขื่อนปากแบง เป็นเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า ในขณะที่ปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยล้นระบบ การลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าเพิ่มอีกจากโครงการเขื่อนปากแบง จะกลายเป็นภาระของผู้บริโภคชาวไทยทุกคนที่จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งหากอ้างอิงตามข้อเสนอของคณะกรรมการเขื่อนโลก หลักการหนึ่งที่สำคัญคือ Comprehensive Options Assessment คือ จะต้องมีพิจารณาทางเลือกต่างๆ เพื่อสนองความต้องการไฟฟ้า ซึ่งเขื่อน เป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง ในทางเลือกพลังงานที่มีจำนวนมาก แต่การผลักดันโครงการเขื่อนปากแบงกลับไม่ได้เป็นการขับเคลื่อนด้วยความต้องการไฟฟ้าของประเทศไทยแต่อย่างใด ในขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าชาวไทยกำลังจะต้องเป็นผู้จ่ายราคานี้
หลังจากนั้นคณะสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่ผาได อ.เวียงแก่น ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่แม่น้ำโขงไหลผ่านประเทศไทยเข้าประเทศลาว โดยบริเวณดังกล่าวในฤดูแล้งเมื่อระดับน้ำโขงลดลงตามฤดูกาล จะมีเกาะแก่งและหาดทรายเชื่อมต่อกับแผ่นดินไทยโดยชาวบ้านใช้ประโยชน์ในการจัดงานต่างๆ และเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยนายอภิธาร ทิพย์ตา นายกเทศมนตรีตำบลม่วงยาย ได้อธิบายให้สื่อมวลชนฟังว่า ในฤดูแล้งพื้นที่นี้ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนของชุมชนซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาโดยเทศบาลได้ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพัฒนาให้มีการจัดงานโดยในปีนี้ได้เตรียมจัดงานมหกรรมไม้ดอกอาเซียน ซึ่งเน้นดอกกุหลาบ
“ถึงตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานราชการมาให้ข้อมูลเลยว่าจะมีการสร้างเขื่อนปากแบง เราไม่รู้เลยว่าหากมีการสร้างเขื่อนจะมีน้ำเท้อสูงแค่ไหน หากน้ำท่วมทั้งปีจะทำให้ธรรมชาติ เช่น หาดทราย เกาะแก่ง หายไป ซึ่งเราไม่ยอมให้เกิดขึ้นแน่” นายอภิธาร กล่าว และว่าพื้นที่อำเภอเวียงแก่นโด่งดังเรื่องส้มโอ หากน้ำท่วมสวนส้มจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชน
จากนั้นคณะสื่อมวลชนได้เดินทางไปยังห้องประชุมเทศบาลตำบลม่วงยาย เพื่อร่วมวงซักถามนายอุดม ปกป้องวรกุล นายอำเภอเวียงแก่น นายพรสวรรค์ บุญทัน ประธานสภาเทศบาลตำบลม่วงยาย และตัวแทนชาวบ้าน โดยนายอุดมกล่าวว่า ชาวเวียงแก่นมีส้มโอเป็นรายได้สำคัญปีละไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท การที่สื่อมวลชนลงพื้นที่ในครั้งนี้ยินดีให้ข้อมูลเพื่อสะท้อนในทุกมิติ โดยในส่วนของอำเภอนั้น ยังไม่ทราบข้อมูลเรื่องการสร้างเขื่อนปากแบกและไม่ทราบว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง จึงขอเวลาศึกษาโดยในการประชุมหน่วยงานราชการครั้งหน้าจะนำเรื่องนี้มาหารือ รวมทั้งนำข้อห่วงกังวลของชาวบ้านนำเสนอไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด
“นโยบายของผมให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้น เมื่อมีการพูดถึงประเด็นผลกระทบต่างๆ เราก็จะพยายามหาข้อมูลเพื่อสร้างการรับรู้ในพื้นที่ และอยากให้สำรวจความคิดเห็นของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงด้วย อาจจะให้มีการประชาคมหมู่บ้าน” นายอุดม กล่าว
นายพรสวรรค์ บุญทัน ประธานสภาเทศบาลตำบลม่วงยาย กล่าวว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบควรเร่งตอบคำถามให้ได้ว่าหากมีการสร้างเขื่อนปากแบงระดับน้ำที่เอ่อสูงขึ้นจะอยู่ระดับไหนและใครจะรับผิดชอบช่วยเหลือชาวบ้าน เพราะทุกวันนี้ที่ดินของชาวบ้านก็ยังไม่มีใบอะไรที่ยืนยันกรรมสิทธิ์ หากถูกน้ำท่วมจะทำอย่างไร
นายชัยวัฒน์ ดวงธิดา ชาวบ้านห้วยลึกซึ่งประกอบอาชีพประมง กล่าวว่ารู้สึกสุดเอือมระอากับการปล่อยน้ำจากเขื่อนจีนเพราะทำปริมาณน้ำขึ้น-ลง ไม่เป็นเวลา ส่งผลในเรื่องของปลาที่ในอดีตเคยหาได้เยอะนำไปขายได้ต่อเดือนนับหมื่นบาท แต่วันนี้แทบหาปลาไม่ได้เพราะระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง พืชที่ปลาใช้วางไข่ เช่น ต้นไคร้ แทบไม่เหลือแล้ว อนาคตถ้ามีการสร้างเขื่อนปากแบงและทำให้น้ำเอ่อสูงอีก พวกตนที่เป็นชาวประมงคงไม่รู้จะไปทำอะไร เพราะปลาคงน้อยลงไปอีกจนทำประมงไม่ได้ จะการการเกษตรก็ไม่ได้ หรือต้องให้ไปหางานทำในเมือง
“ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ทำให้พวกเราหาปลาได้น้อยเต็มทีอยู่แล้ว ปลาหลายชนิดหายไป เช่น ปลาบึก ปลาเลิม ปลาบางชนิดที่เคยมีอยู่เยอะเช่น ปลาสร้อย ทุกวันนี้ก็เหลือน้อย ความเป็นอยู่ของพวกผมก็ลำบากมาก ถ้ายังปล่อยให้มีการสร้างเขื่อนอีก คงไม่รู้จะทำอย่างไร” นายชัยวัฒน์ กล่าว
ช่วงเช้าวันที่ 4 ตุลาคม คณะสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่บ้านสบกก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศจนทำให้เกาะช้างตาย ซึ่งตั้งอยู่ปากแม่น้ำกก โดยในอดีตเกาะแห่งนี้มีคนไทยขึ้นไปทำการเกษตรเพราะในฤดูแล้งสามารถเดินข้ามไปยังบนเกาะได้ แต่ปัจจุบันมีการดูดทรายและสร้างท่าเรือ ทำให้เกาะช้างตายไม่ได้เชื่อมต่อกับแผ่นดินไทยและมีคนลาวอ้างกรรมสิทธิโดยอ้างว่าเกาะทุกแห่งในแม่น้ำโขงเป็นของลาวตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส
นายสมยศ จันทรังสี ชาวบ้านเกาะผาคำและอดีตสมาชิกสภาเทศบาลตำบลบ้านแซว กล่าวว่าเมื่อก่อนชาวบ้านสามารถเดินข้ามไปยังเกาะช้างตายได้ แต่เมื่อแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงเพราะการสร้างเขื่อนจากประเทศจีน ทำให้เกาะพังและไม่สามารถเดินข้ามไปได้อีก และคนลาวได้เอาสัตว์มาเลี้ยง
“เขาข้ามมาเลี้ยงสัตว์และทำการเกษตรอย่างสบายใจ พวกเราร้องไปยังทหารและหน่วยงานรัฐก็ไม่เห็นมีความคืบหน้าอะไร ถ้าเราจะทำอะไรก็มักอ้างว่าจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่พอเราข้ามไปฝั่งลาวกลับต้องเสียเงิน พวกเรารู้สึกคับอบคับใจ พอ 6 โมงเย็น นรข. (หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง) ห้ามพวกเราขับขี่เรือ แต่คนลาวดึกๆ ดื่นๆ ก็ยังขับเรือได้ พวกเขาเข้ามาช๊อตปลากันก็ไม่มีใครจับ” นายสมยศ กล่าว
พระอธิการอภิชาต รติโก เจ้าอาวาสวัดสบกก กล่าวว่าความเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงเห็นชัดกรณีน้ำขึ้น-ลง ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อก่อนมีชาวประมงอยู่เยอะ แต่ปัจจุบันเหลือน้อยมากเพราะปลาเหลือน้อยและระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงซึ่งการสร้างเขื่อนตอนบนมีส่วนสำคัญ
“สมัยก่อนเกาะช้างตายมีความอุดมสมบูรณ์ แต่ต่อมาเกิดพังทลาย ทำให้ช่วงหน้าแล้งชาวบ้านเดินข้ามไปไม่ได้ เมื่อก่อนมีกิจกรรมประเพณีต่างๆ แต่เดี๋ยวนี้มีคนฝั่งโน้นมาอยู่ ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่าเกาะแห่งนี้เป็นของใคร”
นายกฤษฎา ทิวาคำ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลบ้านแซว อ.เชียงแสน กล่าวว่าอยากพัฒนาให้พื้นที่เกาะช้างตายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศูนย์การเรียนรู้ แต่เมื่อเกิดความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ ทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้ อยากให้รัฐบาลเข้ามาดำเนินการ หากท้องถิ่นทำอะไรก็มักถูกอ้างในเรื่องสัญญาที่ไทยทำไว้กับฝรั่งเศส
Discussion about this post