วันนี้ (4 ต.ค.65) เวลา 9.30 น. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีปล่อยขบวนรถหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยจากพายุโนรูทั่วประเทศ โดยนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ รักษาการอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวรายงาน มีนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ผู้บริหารกรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ศูนย์ราชการกรมปศุสัตว์ ถนนติวานนท์ ต.บางกะดี อ.เมือง จ.ปทุมธานี
ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมปศุสัตว์ ได้มีการวางแผนและเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ไว้เป็นอย่างดี จนสามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่มีอยู่กว่า 3 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งสามารถลดทอนความเสียหายและบรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างมาก จนทำให้กรมปศุสัตว์ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินงาน “หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน” ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น และเป็นเกียรติภูมิอันสูงยิ่งของพี่น้องชาวกรมปศุสัตว์ จากการติดตามงานทางช่องทางต่างๆ ทำให้ทราบว่า เจ้าหน้าที่ทุกส่วนงานของกรมปศุสัตว์ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้มีความตั้งใจ และทุ่มเทในการปฏิบัติภาระกิจดังกล่าวอย่างเต็มกำลังเป็นที่ประจักษ์ และสร้างความพึงพอใจแก่พี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างมาก
ดร.เฉลิมชัย ยังกล่าวอีกว่า จากการที่ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุ “โนรู” จนส่งผลให้เกิดอุทกภัยเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรในหลายพื้นที่ จนทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ขาดแคลนอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง บางพื้นที่มีการอพยพสัตว์เลี้ยงไปบนพื้นที่สูงที่มีความปลอดภัย มีสัตว์เจ็บป่วยที่ต้องการการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งในเบื้องต้น กรมปศุสัตว์ได้ระดมสรรพกำลังออกไปให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ทั้งด้านการอพยพสัตว์ เสบียงสัตว์ ตลอดจนการรักษาพยาบาลสัตว์ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและลดความเสียหายให้กับเกษตรกร “อย่างไรก็ตาม นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่กรมปศุสัตว์ได้รับพระบรมราชานุญาต ให้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ด้วย “หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน” นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา โดยกรมปศุสัตว์ได้มีการเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ประสบภัยพิบัติ ในปี 2566 ได้แก่ ด้านการบริหาร โดยการจัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ (ศปภ.ปศ.)” ซึ่งมีอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ส่วนด้านเสบียงสัตว์สำรอง เพื่อความมั่นคงด้านอาหารสัตว์ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ 32 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 5,366 ตัน พร้อมทั้งจัดถุงยังชีพสำหรับสัตว์ จำนวน 3,000 ถุง สำรองยานพาหนะ 118 คัน จัดหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ 161 ทีม จุดอพยพสัตว์ 1,919 จุด และเวชภัณฑ์ดูแลสุขภาพสัตว์ประจำ 9 เขต”
ดร.เฉลิมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การระดมความช่วยเหลือแก่พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ประสบอุทกภัยเป็นไปอย่างทั่วถึง และมีความเป็นเอกภาพ กรมปศุสัตว์ จึงได้จัดพิธีปล่อยขบวนรถหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน พร้อมด้วยหน่วยบริการสัตวแพทย์เคลื่อนที่พร้อมกันทั่วประเทศ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ศูนย์ราชการกรมปศุสัตว์ จังหวัดปทุมธานี “ สำหรับสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ กรมปศุสัตว์ลงพื้นที่เร่งสำรวจจังหวัดที่ได้รับผลกระทบด้านปศุสัตว์ พบว่า มีจำนวน 10 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยดังกล่าว ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ให้การช่วยเหลือเฉพาะหน้าไปแล้ว 7 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ ยโสธร นครราชสีมา สิงห์บุรี ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และอุบลราชธานี และยังเหลืออีก 3 จังหวัดที่จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป ได้แก่ พิษณุโลก เชียงใหม่ และร้อยเอ็ด”
ดร.เฉลิมชัย ยังกล่าวว่า ทั้งนี้ 7 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์จำนวน 17,632 ราย สัตว์เลี้ยงจำนวน 549,668 ตัว ได้แก่ โค 42,721 ตัว กระบือ 12,161 ตัว สุกร 7,038 ตัว แพะ,แกะ 1,467 ตัว และสัตว์ปีก 486,281 ตัว ส่วนแปลงหญ้าที่ได้รับความเสียหายอีกจำนวน 574 ไร่ และจากการสรุปผลการช่วยเหลือในวันที่ 30 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้ให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ไปแล้ว 8,855 ราย และอพยพสัตว์ที่ได้รับผลกระทบ เป็นจำนวน 15,695 ตัว แบ่งเป็น โค 11,088 ตัว กระบือ 2,974 ตัว สุกร 30 ตัว แพะ,แกะ 27 ตัว และสัตว์ปีก 1,576 ตัว อีกทั้งกรมปศุสัตว์ยังได้สนับสนุนเสบียงสัตว์ไปแล้ว 126,200 กิโลกรัม รักษาสัตว์ป่วยอีกจำนวน 23 ตัว และมอบถุงยังชีพสัตว์ให้แก่เกษตรกรอีกจำนวน 250 ถุง เมื่อภายหลังจากเหตุการณ์อุทกภัยได้คลี่คลายและกลับคืนสู่สภาพปกติแล้ว กรมปศุสัตว์จะเร่งดำเนินการสำรวจความเสียหายเพื่อทราบถึงจำนวนสัตว์ที่ตาย หรือสูญหายของเกษตรกรแต่ละราย เพื่อดำเนินการชดเชยเยียวยาตามระเบียบของทางราชการอีกครั้งหนึ่ง
“ซึ่งเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยสามารถติดต่อขอรับการสนับสนุนเสบียงสัตว์รวมไปถึงความช่วยเหลือด้านการปศุสัตว์ ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ในพื้นที่ ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ หรือติดต่อศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ (ศปภ.ปศ.) กรมปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ โทร. 0-2653-4444 ต่อ 3315 และที่ Application DLD 4.0 เพื่อจะได้ให้เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีต่อไป” ดร.เฉลิมชัย กล่าว
Discussion about this post