วันที่ 4 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่บริเวณปั๊มน้ำมัน ปตท. (หน้าอำเภอป่าโมก) ตำบลบางปลากด อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง พร้อมด้วย นาวาเอกหญิงอินทิรา ตันเจริญ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอ่างทอง ลงพื้นที่ส่งมอบเครื่องอุปโภค-บริโภคชุดธารน้ำใจสภากาชาดไทยช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอป่าโมก จำนวน 404 ราย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในเบื้องต้น โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ปลัดจังหวัดอ่างทอง ผู้แทนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอ่างทอง หัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดอ่างทอง นายอำเภอป่าโมก ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรป่าโมก ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ และอาสายุวกาชาด
จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองได้พูดคุยเพื่อให้กำลังใจแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในทุกพื้นที่ของจังหวัดอ่างทอง พร้อมเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมเร่งเสริมคันดินกั้นน้ำในพื้นที่เสี่ยงให้มีความมั่นคงแข็งแรงเพี่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจของจังหวัดอ่างทอง หากประชาชนในชุมชนที่ประสบอุทกภัยต้องการความช่วยเหลือให้แจ้งทางอำเภอในพื้นที่เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และสัญญาว่าจะดูแลช่วยเหลือประชาชนชาวอ่างทองอย่างเต็มความสามารถ โดยทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันเพื่อให้สถานการณ์อุทกภัยเบาบางลงและผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
ต่อมา นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและแนวพนังกั้นน้ำป้องกันตลิ่ง บริเวณหลังสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลตำบลป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง โดยมีนายศักดิ์ดา บรรดาศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ปลัดจังหวัดอ่างทอง หัวหน้าสำนักงานจังหวัดอ่างทอง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอ่างทอง หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอป่าโมก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนรสิงห์ และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเอกราช ร่วมลงพื้นที่ จากนั้นลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายของถนนทางหลวงหมายเลข 3501 สายอ่างทอง – ป่าโมก (สายเก่า) บริเวณชุมชนบ้านน้ำวน ม.1 ต.ป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง เกิดการชำรุดทรุดตัวเนื่องจากถูกน้ำกัดเซาะ โดยมีผู้อำนวยการแขวงทางหลวงอ่างทองร่วมลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความเสียหาย
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ที่ได้รับความเดือดร้อนทั้ง 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอป่าโมก ระดับน้ำคลองโผงเผง (บริเวณสะพานข้ามคลองโผงเผง) 8.58 ม.รทก. ระดับวิกฤติ 6.50 ม.รทก. ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา (หน้าที่ว่าการอำเภอป่าโมกหลังเก่า) 8.71 ม.รทก. ระดับวิกฤติ 7.50 ม.รทก. อำเภอเมืองอ่างทอง ระดับน้ำเจ้าพระยา จุดวัดระดับบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง (C.7A) มีระดับน้ำอยู่ที่ 9.34 ม. (รทก.) ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 0.04 ม. (รทก.) ระดับวิกฤตอยู่ที่ 10.00 ม.(รทก.) อำเภอไชโย ระดับน้ำเจ้าพระยา จุดวัดระดับบริเวณหน้าวัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง มีระดับน้ำอยู่ที่ 9.98 ม.(รทก.) ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 0.03 ม.(รทก.) ระดับน้ำระดับวิกฤต อยู่ที่ 9.50 ม.(รทก.) อำเภอวิเศษชัยชาญ ระดับน้ำที่แม่น้ำน้อย จุดวัดระดับบริเวณหน้าวัดตูม หมู่ที่ 11 ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง มีระดับน้ำอยู่ที่ 5.54 ม.ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 0.09 ม.(รทก.) จุดวิกฤตอยู่ที่ระดับ 6.50 ม.(รทก.) บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบ จำนวน 4 อำเภอ 25 ตำบล 82 หมู่บ้าน 2,364 ครัวเรือน
Discussion about this post