วันที่ 5 ตุลาคม 2565 ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ ส.ว.ก๊อง นายก อบจ.เชียงใหม่ เป็นประธานพิธีรับรายงานตัวข้าราชการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)เพื่อมาสังกัด อบจ.เชียงใหม่ จำนวน 12 อำเภอ รวม 62 แห่ง ประกอบด้วยข้าราชการ 189 คน พนักงานและลูกจ้าง 195 คน รวม 384 คนมี นพ.เพทาย เตโชฬาร รองนายก อบจ.เชียงใหม่ นายธัชพล อภิรติมัยปลัด อบจ.เชียงใหม่ น.พ.ไกร ดาบธรรม ที่ปรึกษานายก อบจ.เชียงใหม่พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างเข้าร่วมกว่า 500คน โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง
นายพิชัย กล่าวว่า ยินดีต้อนรับบุคลากร รพ.สต. ที่สมัครใจมาสู่ครอบครัว อบจ. ปีแรก จำนวน 62 แห่ง ซึ่งยืนยันว่าเงินเดือน ค่าตอบแทนสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ อาทิ โบนัส ดีกว่าเดิมแน่นอน พร้อมสนับสนุนความก้าวหน้าบุคลากร เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ โดยตั้งงบประมาณปี 66 จัดซื้อครุภัณฑ์และเวชภัณฑ์ตามความจำเป็นและความต้องการของ รพ.สต. จำนวน 48 ล้านบาท เพื่อบริการตามมาตรฐานสาธารณสุข และสร้างความพึงพอใจประชาชนมากที่สุด
“ภาพรวม อบจ.มีรายได้เฉลี่ยปีละ 1,700 ล้านบาท จึงมีนโยบายต่อยอดและพัฒนา รพ.สพ. ให้เป็นการรักษาระบบการแพทย์ทางไกล หรือTelemedicine นำร่องแห่งแรกของประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกบริการผู้ป่วยหรือผู้ใช้บริการ ลดแออัดการใช้บริการในโรงพยาบาล โดยเริ่มดำเนินการภายใน 1 เดือน ภายใต้ความร่วมมือสาธารณสุขจังหวัดคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และเครือข่ายสาธารณสุข เพื่อขับเคลื่อนการรักษาและการบริการผู้ป่วยแบบครบวงจร พร้อมส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีเครื่องมือและอุปกรณ์พร้อมตามลำดับ มั่นใจว่า อบจ.สามารถบริหารจัดการ รพ.สต.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการ หรือตอบโจทย์ประชาชนได้ตรงจุดหรือมากที่สุดด้วย” นายพิชัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พิธีรับรายงานตัวข้าราชการ พนักงานกระทรวง ลูกจ้างรพ.สต. จำนวน 62 แห่ง ประกอบด้วย อ.เเมืองเชียงใหม่ 2 แห่ง อ.แม่ริม14 แห่ง อ.สันทราย 13 แห่ง อ.ฝาง 12 แห่ง อ.สันป่าตอง 2 แห่ง อ.หางดง 1 แห่ง อ.สันกำแพง 3 แห่ง อ.พร้าว 4 แห่ง อ.จอมทอง 4 แห่ง อ.ไชยปราการ 2 แห่ง อ.สารภี 1 แห่ง โดยมีการประเมินผลการรับถ่ายโอน 1 ปีก่อนรับถ่ายโอน รพ.สต.ในปี 2567 เพิ่มตามนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้อง
ถิ่นของรัฐบาล
/////////////////////
Discussion about this post