วันนี้ (5ต.ค.65) เวลา 13.30 น. นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย/ประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหาร ธปท.ในหัวข้อ “ภาวะธุรกิจ แนวโน้มและการปรับตัวหลัง COVID-19 (Business Transformation)” เพื่อรับทราบข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี โดยมี นายพิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรม การผู้จัดการบริษัท เมืองนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด/รองประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยผู้ประกอบการ ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ที่ห้องบ้านผือ โรงแรมเซ็นทารา อุดรธานี
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงถึงการประเมินเศรษฐกิจปี 2565 คาดการณ์จะเติบโตที่ 3.3% เนื่องจากปลายไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 เห็นถึงการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มขยายตัว ค่อยๆ ฟื้นตัว ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายของภาคเอกชน เนื่องจากมีการเปิดเมือง กิจกรรมด้านเศรษฐกิจค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ มีการใช้จ่าย การฟื้นตัวเริ่มเห็นชัดขึ้น นักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาภายในประเทศ จึงมองว่าเศรษฐ กิจจะค่อยๆ ฟื้นตัว ปัจจัยจากนักท่องเที่ยวเป็นหลัก รวมทั้งในภาคการส่งออก ซึ่งจากด้านการท่องเที่ยว มีตัวเลขนักท่องเที่ยวทยอยเข้ามาในปี 2565 ถึง 9.5 ล้านคน แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยง เช่น อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศคาดการณ์ไว้ที่ 3.3% จากที่คาดการณ์ไว้ครั้งที่ผ่านมาและเชื่อว่าเงินเฟ้อจะขยายตัวสูงสุดในเดือนสิงหาคมและจะทยอยชะลอตัวลง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าปัจจัยกดดันทางด้านราคาลดลง และราคาพลังงานโลกจะทยอยปรับตัวลดลงแม้จะมีความขัดแย้งในประเทศกลุ่มยุโรป
ดังนั้นจึงมองว่าปี 2566 เศรษฐกิจจะเติบโตอยู่ที่ 3.8% ซึ่งปรับลดลงจากการประมาณการครั้งก่อนที่ 4.2% มีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องเศรษฐ กิจโลกมีความชะลอตัว โดยหากจะให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอยู่ในระดับก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 น่าจะต้องหลังจากไตรมาส 2 ของปี 2566 รวมทั้งตัวเลขนักท่องเที่ยวมากกว่า 20-21 ล้านคน และคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาในไตรมาส 4 ของปี 2566 และยังคงมีปัจจัยเสี่ยงในด้านเงินเฟ้อ กลุ่มฐานรากที่ยังคงมีความเปราะบางจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อสถานการณ์รายได้ต่อครัวเรือน ความเป็นไปได้ในการชำระหนี้ครัวเรือนของประชาชน รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเศรษฐกิจภาคอีสานและจังหวัดอุดรธานี ซึ่งได้ให้ความสำคัญภาคการค้าชายแดน การผลักดันให้มีการเปิดด่านชาย แดนโดยเฉพาะด่านชายแดนหนองคาย ซึ่งเชื่อมต่อกับเมืองหลวงของ สปป.ลาว โดยตรง เพื่อให้เกิดการเดินทาง การจับจ่ายใช้สอยระหว่างประเทศ และการผลักดันด้านการส่งออกสินค้าไทย การท่องเที่ยวระหว่างประเทศ การออกมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินให้สมารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการรายย่อยยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเท่าที่ควร
นายพิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรม การผู้จัดการบริษัท เมืองนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ให้ข้อมูลถึงการดำเนินงานของนิคมฯ อุดรธานี โดยได้แบ่งการบริหารงานออกเป็น 2 ส่วนคือ ในด้านโรงงานอุตสาหกรรม และด้านโลจิสติกส์ ซึ่งในด้านโลจิสติกส์ปัจจุบันกำลังดำเนินงานในด้าน ICD หรือท่าเรือบกในนิคมฯ และจะมีการลากรางรถไฟเข้ามาในพื้นที่นิคมฯ อุดรธานี ด้วย ซึ่งจะเป็นช่องทางในการส่งสินค้าไปยังประเทศจีนและกลุ่มประเทศยุโรป และสามารถใช้ท่าเรือแหลมฉบังได้ เพราะรถไฟสามารถเดินทางไปยังท่าเรือแหลมฉบังได้ โดยปัจจุบันได้มองตลาดใหญ่คือ ตลาดจีน ซึ่งหากเราสามารถส่งสินค้าไปยังประเทศจีนได้จะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อผู้ประกอบการไทย และนิคมฯ อุดรธานี มีความพยายามสนับสนุน SMEs คือจัดทำ Micro Factory เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เช่าในการผลิตสินค้า ทดลองตลาด ทั้งในรูปแบบของอีคอมเมิร์ชและตลาดจีนได้ด้วย แต่ผู้ประกอบการรายย่อยยังประสบปัญหาด้านเงินทุน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ จึงอยากให้ ธปท. ได้ช่วยสนับ สนุนในด้านเงินทุนสำหรับผู้ประ กอบการ SME.
Discussion about this post