ณัฐวัตร ลาพิงค์/เชียงราย
เต่าปูลูหรือเต่าปากนกแก้ว (Big-headed Turtle) เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ อาศัยอยู่ลำห้วยสาขาของป่าต้นน้ำ ในลักษณะระบบนิเวศแบบลำธาร มีโขดหิน น้ำตก แอ่งน้ำ เป็นสัตว์ประจำถิ่นที่พบได้ทั่วไปในแหล่งป่าต้นน้ำในภาคเหนือของประเทศไทย การพบเต่าปูลูนั้นเป็นตัวชี้วัดว่าระบบนิเวศของป่าแห่งนั้นยังมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะเต่าปูลูจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำสะอาด และมีสัตว์น้ำที่เป็นอาหารจำนวนมากเพียงพอในพื้นที่ลุ่มน้ำอิงพบมีการอาศัยอยู่แทบทุกลำห้วยสาขา
แต่ในระยะหลังจากการเก็บข้อมูลงานวิจัยพบว่าปัญหาหลักของภัยคุกคามของเต่าปูลูคือ เรื่องของการล่าเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ เต่าปูลูมีราคาสูงถึงกิโลละ 3,000 – 5,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาด ในส่วนของการล่าเพื่อเป็นอาหารของคนท้องถิ่นมีน้อยมากส่วนใหญ่ไม่นิยมรับประทาน ถึงแม้จะมีกฎหมายคุ้มครองและบทลงโทษที่ชัดเจน แต่การล่าเต่าปูลูยังมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณเต่าปูลูลดลงจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ทีมสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตจึงได้ทำการสำรวจเต่าปูลู ภายใต้โครงการศึกษาแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนลุ่มน้ำอิงตอนปลาย ทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา และชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย 10 ชุมชนโดยทำการสำรวจว่ายังมีเต่าปูลูเหลืออยู่ในแหล่งใดบ้างด้วยวิธีการตามหาตัว และการตรวจหาสารพันธุกรรมในสิ่งแวดล้อม (eDNA) อีกทั้งยังทำการวิเคราะห์หาภัยคุกคามต่อเต่าปูลูที่พบ และหาข้อเสนอ แนวทางการแก้ไขร่วมกับคนในชุมชน
รองศาสตราจารย์ ดร. มัสลิน โอสถานันต์กุล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้พัฒนาวิธีการ eDNA เพื่อการติดตามสำรวจเต่าปูลูขึ้นมา กล่าวว่า eDNA ที่ย่อมาจาก environmental DNA คือดีเอ็นเอที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม โดยการสำรวจสิ่งมีชีวิตด้วย eDNA นั้นเป็นการสำรวจอีกแบบหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องหาตัวของสิ่งมีชีวิต แต่จะเป็นการตามหาดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมแทน สิ่งแวดล้อมที่ว่านั้นก็เป็นได้ทั้ง น้ำ ดิน หรือแม้กระทั่งในอากาศ เพราะปรกติสิ่งมีชีวิตจะปลดปล่อยดีเอ็นเอออกมาสู่สิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เราสามารถตรวจหา eDNA แทนที่การสำรวจแบบพบตัวได้ ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิม หรือทำควบคู่กันไปก็ได้ การสำรวจแบบพบเจอตัว หรือวิธีดั้งเดิม นั้นมีปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการรบกวนการดำรงชีวิตของเต่าปูลู และต้องใช้เวลานานในการสำรวจตามหาตัว
“การประยุกต์ใช้ eDNA ในการสำรวจเต่าปูลูที่บริเวณแหล่งน้ำต่าง ๆ จึงจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่งหากพบ eDNA ของเต่าปูลูก็จะเป็นการบ่งบอกว่าบริเวณนั้นมันมีการอยู่อาศัยของเต่าปูลูโดยไม่ต้องไปจับตัวเต่า นอกจากนั้นแล้วความเข้มข้นของ eDNA ยังสามารถใช้บ่งชี้เป็นแนวโน้มว่าบริเวณนั้น ๆ มีเต่าปูลูจำนวนมากน้อยเพียงใด หรือ บริเวณใดน่าจะเป็นบริเวณที่มีความเหมาะสมต่อการดำรงชีพของเต่าปูลู การตรวจหา eDNA ของสิ่งมีชีวิตไม่ได้จำกัดเพียงการตรวจหาสิ่งมีชีวิตทีละชนิดเดียว แต่สามารถตรวจหาสิ่งมีชีวิตหลาย ๆ ชนิดพร้อมกันก็ได้ แต่โปรเจคนี้เราสนใจเฉพาะเต่าปูลู” รองศาสตราจารย์ ดร. มัสลิน กล่าว
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรมงคล สุวรรณภูมิ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งเป็นผู้ศึกษาทางนิเวศวิทยาและถิ่นที่อยู่อาศัยของเต่าปูลู ได้กล่าวว่า เต่าปูลูอาศัยอยู่ในลำห้วยสาขาจะพบในลักษณะที่เป็นแอ่งน้ำที่คนทางเหนือเรียกว่า “วัง” ขนาดปานกลาง เป็นจุดที่เต่าปูลูใช้เวลาส่วนใหญ่ 70 เปอร์เซ็นต์ ดำรงชีวิตในแอ่งน้ำในการหาอาหาร และหลบซ่อนตัว โอกาสที่เราจะเจอตัวค่อนข้างที่จะยาก เต่าปูลูส่วนใหญ่จะพบง่ายในตอนเวลากลางคืนมากกว่าตอนกลางวัน หรือส่วนใหญ่มักจะเจอด้วยความบังเอิญ
“สำหรับดีเอ็นเอที่สกัดได้จากสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental DNA (eDNA) เป็นวิธีหนึ่งที่จะมาช่วยในการติดตามเต่าปูลูในธรรมชาติ ในส่วนตัวจะดูในลักษณะนิเวศวิทยาของเต่าปูลู เพื่อดูนิเวศวิทยาที่เหมาะสมและใช้ในการประเมินเปรียบเทียบกับข้อมูลทาง eDNA” รองศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรมงคล กล่าว
นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า สมาคมเรามีงานทีเกี่ยวข้องกับแมน้ำ ส่วนใหญ่เราจะศึกษาเรื่องพันธุ์พืช พันธุ์ปลา สัตว์น้ำ และนก ครั้งนี้ถือว่า เป็นงานศึกษาวิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งเราเองก็ยังไม่มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์เท่าไหร่ ก็เป็นการศึกษาเรียนรู้การทำงานและการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่จะเอามาเสริมเรื่องของการอนุรักษ์ ในพื้้นที่ลุ่มน้ำอิงลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำกก ในอนาคต นอกเหนือจากการทำงานกับชุมชน การทำงานข้อมูล วิจัยภาพรวม ด้านระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ปัจจุบันเราพยายามจะเอาข้อมูลความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเสริมในงานอนุรักษ์ของสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต
การสำรวจ eDNA ในครั้งนี้ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตและคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา วางแผนที่จะสำรวจให้ครบทั้ง 86 ลำห้วยสาขาในลุ่มน้ำอิงตอนปลาย และหาแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าของปูลูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อไป นอกจากเต่าปูลูแล้วทีมเรายังสำรวจพบ เต่าเหลือง เต่านา เต่าบัว เต่าจัก ตะพาบ ตะพาบใต้หวัน เต่าบก อีก 6 ชนิด ปัจจุบันเต่าปูลูลดจำนวนลง และค่อนข้างหายาก จากการบุกรุกพื้นที่ต้นน้ำปลูกพืชเศรษฐกิจ สารเคมีการเกษตร ป่าต้นน้ำแห้งขอด ปูปลาสัตว์น้ำขนาดเล็กหายไปจากห่วงโซ่อาหาร ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ การล่าส่งขายเพื่อส่งออกเป็นยาบำรุงตามความเชื่อนั้น ชาวบ้านทั้ง 10 ชุมชนจึงได้เสนอแนวทางอนุรักษ์เต่าปูลู ได้ข้อเสนอดังนี้
1) ใช้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ต้นน้ำ หรือป่าชุมชน ป่าต้นน้ำที่ทางชุมชนได้ทำการอนุรักษ์ไว้แล้ว กำหนดเป็นเขตอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลู
2) ตั้งคณะทำงานในชุมชน มีทั้งใช้โครงสร้างของกรรมการหมู่บ้าน และบางชุมชนใช้โครงสร้างกรรมการป่าชุมชน เพิ่มภาระกิจเรื่องการทำงานอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูเฝ้าระวัง ลาดตระเวน
3) ทำป้ายรณรงค์ กฎระเบียบ ข้อห้าม มติหยุดล่าเต่าปูลูตามจุดสำคัญในชุมชน
4) ออกกฎระเบียบหมู่บ้านหรือประชาคมมีบทลงโทษ ประกาศประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย การห้ามล่ารวมถึงประสานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
5) จัดตั้งกองทุนอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลู
กิจกรรมกองทุนอนุรักษ์เต่าปูลูจากข้อเสนอชุมชน จะเป็นการสนับสนุนชุมชนเพื่อทำกิจกรรมการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลู เช่น ทำฝายชะลอน้ำเพื่อเก็บน้ำเป็นแหล่งอาหารแหล่งที่อยู่ของเต่า ทำแนวกันไฟป้องกันพื้นที่วางไข่ริมฝั่งของเต่าปูลูช่วงฤดูแล้ง จัดพิธีกรรมการอนุรักษ์ เลี้ยงผีขุนน้ำ สืบชะตาแม่น้ำ บวชป่าต้นน้ำ รณรงค์ห้ามล่าเต่าปูลู และสนับสนุนค่าอาหารอุปกรณ์ในการเฝ้าระวังให้กับคณะกรรมการหมู่บ้าน และขยายความร่วมมือในการสำรวจและอนุรักษ์เต่าปูลูให้ครอบคลุมทั้ง 86 ลำห้วยสาขาต่อไป
เมื่อชาวบ้านทราบว่าลำห้วยของตัวเองยังมีเต่าปูลูอยู่ ทำให้เกิดความอิ่มเอมใจและสร้างความตระหนักให้ชุมชนได้หันมาอนุรักษ์เต่าปูลูที่กำลังใกล้สูญพันธุ์ นั้นถือเป็นข้อดีของการตรวจหา eDNA ของเต่าปูลู ทั้งยังเป็นอีกแนวทางหนึ่งของการทำงานสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา ที่นำเทคนิคเครื่องมือวิชาการทางวิทยาศาสตร์มาทำงานร่วมกับการทำงานวิจัยชาวบ้าน
Discussion about this post