เมื่อวันที่ 10 ต.ค.65 ที่วัดบ้านหนองแก้ว ต.หนองแก้ว อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ พระครูรัตนะธรรมมาพิราม เจ้าคณะตำบลหนองแก้ว และเจ้าอาวาสวัดบ้านหนองแก้ว เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายประหัส พิมมากร กำนันตำบลหนองแก้ว เป็นประธานฝ่ายฆราวาส นำพุทธ ศาสนิกชนชาวบ้านหนองแก้ว ร่วมประกอบพิธีถวายปราสาทผึ้ง ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวบ้านร่วมกันสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีวันออกพรรษา มาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยชาวอีสานในบางท้องถิ่นที่เชื่อกันว่า การทำต้นขี้ผึ้ง หรือดอกขี้ผึ้ง เพื่อเป็นพุทธบูชาถวายแด่พระพุทธเจ้า และอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
ทั้งนี้ ชาวอีสานถือว่า การทำบุญด้วยการถวายปราสาทผึ้ง หรือหอผึ้ง หรือต้นดอกผึ้ง เป็นบุญกุศลที่สูง หลังจากทำบุญให้ผู้ล่วงลับไปแล้วในงานบุญแจกข้าว หรือบุญเดือน 10 แล้ว จะมีการถวายปรา สาทผึ้งเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้วายชนม์ด้วย ตามความเชื่อว่าเมื่อผู้ถวายสิ้นชีวิตแล้วจะได้ไปอยู่ในวิมานบนสวรรค์ ปราสาทผึ้งแบบดั้งเดิมทำจากกาบกล้วยเหลาเป็นเส้น แล้วประกอบขึ้นเป็นทรงปรา สาทหรือทรงสามเหลี่ยม จากนั้นนำขี้ผึ้งมาต้มแล้วปั้นหรือหล่อเป็นรูปดอกไม้ประดับบนปราสาทอย่างประณีต ชาวบ้านจะถวายพร้อมผ้าแพร ฝ้าย ไหม ไม้ขีด กระดาษและดินสอ เพื่อให้ทางวัดนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
สำหรับตำนานการแห่ปราสาทผึ้งนั้น มาจากคติความเชื่อที่ว่า เป็น การทำบุญเพื่อให้ได้ไปเกิดในสรวงสวรรค์ อันมีปราสาทสวยงามแวดล้อมด้วยนางฟ้านางสวรรค์ อันมีแต่ความรื่นเริงบันเทิงใจ หรือถ้าได้เกิดใหม่ในโลกมนุษย์ก็จะมีแต่ความมั่งมีศรีสุข แต่ปัจจุบันคนอีสานถือว่าประเพณีแห่ปราสาทผึ้งนี้ เป็นร่วมบุญบนความรื่นเริงใหญ่ในรอบปี นับเป็นประเพณีที่สร้างความสามัคคีในชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยชาวบ้านหนองแก้ว ได้ประกอบพิธีแห่ปราสาทผึ้งถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ในช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี เพื่อเป็นการสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง ที่สืบทอดกันมายาวนานให้คงอยู่สืบไป.
Discussion about this post