เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานโครงการร่วมแรง ร่วมใจ เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำอย่างมีส่วนร่วม ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา บ้านปางยาง อำเภอปัว จังหวัดน่าน โดยมี นายนิวัฒน์ งามธุระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 แพร่ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้จัดการโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงลุ่มน้ำน่าน ปลัดอาวุโสอำเภอปัว ร่วมโครงการฯ
ทั้งนี้ จากการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายภาคประชาชน ว่ามีความขัดแย้งในพื้นที่ต้นน้ำปางยาง อำเภอปัว จังหวัดน่าน จึงได้ตั้งคณะทำงานสืบสวนเรื่องดังกล่าว และไม่พบว่ามีการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ จึงได้ยุติการสืบสวน แต่ปัจจุบันยังพบว่ามีปัญหาความขัดแย้ง จึงได้นำแนวทางโครงการอำนวยความเป็นธรรมด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ตามนโยบาย “ยุติธรรมสร้างสุข” ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เข้ามาแก้ไขปัญหา
โดยมอบหมายให้นายอังสุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามหนี้นอกระบบและอำนวยความยุติธรรม ดำเนินโครงการฯ และให้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ อำเภอปัว อุทยานแห่งชาติดอยภูคา โครงการหลวง นักวิชาการ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โครงการฯ ได้ดำเนินการจนเกิดผล เป็นรูปธรรม มีการคืนพื้นที่ป่า 300 ไร่ เกษตรกรที่คืนพื้นที่ป่า ได้รับการปรับปรุงที่ดินทำกิน เป็นแปลงนาขั้นบันได ได้รับการส่งเสริมการปลูกไม้ผล และปศุสัตว์
โดยวันนี้ ราษฎรบ้านขุนกูน ตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว จังหวัดน่าน ยื่นหนังสือแสดงความประสงค์ที่จะขอคืนพื้นที่ป่าให้แก่ภาครัฐอีก 13 ครอบครัว เนื้อที่ป่าต้นน้ำ 168 ไร่ เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีการทำการเกษตรแบบทำไร่พืชเชิงเดี่ยว หรือทำไร่เลื่อยลอย มาทำการเกษตรแบบผสมผสาน ตามที่เห็นตัวอย่างจากบ้านปางยาง ตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว จังหวัดน่าน ที่ในปีที่ผ่านมาเห็นการปรับเปลี่ยนเป็นการทำนาขั้นบันไดใกล้บ้าน การปลูกผลไม้ที่ทำให้เหลือรายได้ในปีนี้มากกว่า 80,000 บาท ต่างจากการทำเกษตรพืชเชิงเดี่ยวที่แทบจะไม่เหลือกำไร รวมทั้งเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีที่ทำไร่ในพื้นที่ป่า
โดยกิจกรรมในวันนี้ มีการปลูกต้นไม้ รวมทั้งสร้างฝายเพื่อดักตะกอนดิน รวมทั้งมีการปลูกผลไม้เศษฐกิจคือกล้าพันธุ์ทุเรียน ที่สภาพอาการที่เป็นอาการแบบป่าดิบชื้นที่เป็นสภาพอาการที่เหมาะสมกับการปลูกทุเรียน รวมทั้งการปลูกทุเรียนยังช่วยในการป้องกันไฟป่าอีกแรง เนื่องจากชาวบ้านจะดูแลสวนทุเรียนไม่ให้เกิดไฟแล้วลุกลามไปติดป่า
ด้าน นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า จากการดำเนินการดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอขอบคุณกลุ่มชาวบ้านปางยาง ที่เสียสละคืนพื้นที่ ทำกิน และปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และขอขอบคุณหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ อำเภอปัว อุทยานแห่งชาติดอยภูคา โครงการหลวงบ้านปางยาง ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง แก้ไขปัญหาชุมชนให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่ต้องใช้สารอันตราย มาเป็นอาชีพการปลูกไม้ผลและปศุสัตว์ เพื่อเสริมสร้างรายได้ และที่สำคัญเกษตรกรบ้านปางยาง ได้มอบคืนพื้นที่ทำกินเพื่อฟื้นฟูสภาพป่า และมีข่าวเป็นที่น่ายินดีว่าชาวบ้านจากบ้านขุนกุน ตำบลภูคา แสดงความประสงค์จะสละพื้นที่ทำกินในพื้นที่ป่า เพื่อขยายผลการพัฒนาในลักษณะเดียวกับบ้านปางยาง ต่อไป
@@@@@@@@@@
ประสิทธิ์ สองเมืองแก่น จ.น่าน 0848084888
Discussion about this post