วันที่ 17 ธันวาคม 2565 ที่โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่า การกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดอบรม “กลไกทางการเงินใหม่สู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว” โดยมี รศ.ดร. ไกรเลิศ ทวีกุล หัวหน้าโครงการวิจัย สำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น เชิญกลุ่มเป้าหมายที่มีการทำกิจกรรมต่อเนื่อง มีตลาด ต้องการขยายกิจการหรือธุรกิจและต้องการโอกาสเข้าถึงสถาบันการเงิน Young Smart Farmer และวิสาหกิจชุมชน จำนวนกว่า 200 คน ร่วมอบรม เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจด้านระบบกลไกทางการเงินใหม่ ที่คณะวิจัยได้ศึกษาจากการลงพื้นที่และประชุมกับสถาบันการเงินจนได้รูปแบบที่น่าสนใจ อีกอย่างคือ เป็นการถ่ายทอดความรู้ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว และ BCG Model ซึ่งกลุ่มเป้าหมายสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานเศรษฐกิจสีเขียว
นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว คือแนวทางของรัฐบาลในการขับเคลื่อน BCG MODEL เรียกว่าเกษตรยั่งยืน เป็นแนวทางให้เกษตรกรได้ทำการเกษตรอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการให้ความรู้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรได้ปรับตัวจากการทำเกษตรกรดั้งเดิม มาเป็นเกษตรกรที่เป็นผู้ประกอบการ ที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยมีแหล่งเงินทุนที่เข้ามาหาเกษตรกรถึงในพื้นที่ และมีการวางแผนในเรื่องการเงิน การลงทุน และรายได้ที่จะได้มา ถือเป็นการยกระดับเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรที่เป็นผู้ประกอบการไปในตัว คือมีการเรียนรู้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จากเดิมที่เกษตรกรเป็นเพียงผู้ผลิต แต่วันนี้เกษตรกรจะยกระดับสู่การเป็นผู้ผลิต ผู้แปรรูป ที่หาตลาดได้เอง โดยเฉพาะโลกปัจจุบันที่ถือว่าเป็นโลกออนไลน์ เกษตรกรสามารถค้นหาผู้ที่ต้อง การซื้อ หรือผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ หรือผลิตผลของเกษตรกรได้ โดยการโพสต์ขายหรือทำให้คนทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลกได้เห็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร ซึ่งจะเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้เกษตรกร ได้อย่างครบวงจร
“ปัจจุบันกระแสความนิยมในผู้ที่เน้นด้านสุขภาพ เช่น ตลาดกรีน นั้น โดยเฉพาะสินค้าหรือผลิตผล ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวด ล้อม ภายใต้สภาวะ Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก จึงจำ เป็นที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงเกษตรกรให้มีองค์ความรู้ในเรื่องนี้ เพราะเทรนด์ หรือกระแสความนิยมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น มาตรการในด้านคุณภาพ มาตรฐาน พื้นที่ปลูกหรือผลิตสินค้าทางการเกษตร การเพาะปลูกที่ถูกต้องหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งจะต้องเร่งทำความเข้าใจและพัฒนาเกษตรกรต่อไป”
รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรหลายท่านยังเข้าไม่ถึงกลไกการเงินของสถาบันการเงิน จึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องสร้างกลไกทางการเงินใหม่ ในการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจสีเขียวให้ขยายผลมากขึ้น ซึ่งความสามารถในการเข้าถึงโอกาสทางการเงินอย่างเหมาะสม จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ และการกระจายความเจริญในระดับพื้นที่ได้ กลไกทางการเงินเป็นระบบเส้นเลือดที่สำคัญของธุรกิจท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการ รวมถึง Young Smart Farmer มีโอกาสให้ธุรกิจอยู่รอดได้
“โดยหน่วยงานบริหารและการจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ให้ทุนสนับสนุนแก่มูลนิธิร่วมพัฒนาชนบทไทย- อาเซียน ดำเนินโครงการวิจัยและมีการจัดฝึกอบรมเรื่อง“กลไกทางการเงินใหม่สู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว” แก่ Young Smart Farmer และวิสาหกิจชุมชน ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผู้คนตกงานจากภาคธุรกิจ รวมทั้งคนที่ต้องการจะทำธุรกิจยังขาดแคลนเงินลงทุน ด้วยการเข้าถึงระบบกลไกทางการเงินของสถาบันการเงินยากขึ้นด้วย ภาวะเศรษฐกิจการตลาด รวมถึงรูปแบบการค้ำประกันที่ยังไม่ดีพอ ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นโจทย์ที่ต้องตอบต่อสังคมว่าจะมีแนวทางรูปแบบใด ที่จะเชื่อมต่อกลุ่มดังกล่าว เข้ากับระบบกลไกการเงินของสถาบันการเงินที่สะดวกและนำไปใช้ได้ผล”
รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการวิจัยนี้ได้รับงบประมาณจากหน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่หรือบพท.โดยมีมูลนิธิร่วมพัฒนาชนบทไทย-อาเซียน เป็นหน่วยงานดำเนินการ มีระยะเวลา 12 เดือน ใน 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช และชลบุรี ซึ่งขอนแก่น เป็นแห่งแรกและจะทำเป็น “ขอนแก่นโมเดล” ที่จะนำไปปรับใช้กับพื้นที่ต่างๆต่อไป ในการอบรมครั้งนี้มี Young Smart Farmer ได้นำผลผลิตมาวางแสดงและจัดจำหน่าย 20 ฟาร์ม ซึ่งเป็นการแสดงถึงศักย ภาพของกลุ่มนี้ได้อีกทางหนึ่ง ทั้งคุณภาพ การผลิตและเครือข่ายการตลาด”.
Discussion about this post