เชียงรายฟิล์มคลับ (Chiang Rai Film Club) ผนึกความร่วมมือกับโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย สถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ (โฮงเฮียนแม่น้ำของ) และขัวศิลปะ (ArtBridge) จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการผลิตภาพยนตร์สั้น “แม่โขง” (Mekong Film Workshop) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้ตระหนักถึงวิกฤตแม่น้ำโขง และถ่ายทอดออกมาในรูปแบบการผลิตสื่อภาพยนตร์สั้น โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจําประเทศไทย
โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการผลิตภาพยนตร์สั้น “แม่โขง” (Mekong Film Workshop) จัดขึ้นเป็นพื้นที่สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประเด็นการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม บุคลากรที่มีประสบการณ์ในการผลิตภาพยนตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 15 คน นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ยังมีโอกาสได้จัดทำภาพยนตร์สั้นเพื่อบอกเล่ามุมมองของตัวเอง เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง เพื่อเผยแพร่ให้กับบุคคลทั่วไปในช่วงท้ายของกิจกรรม
โดยโครงการฯ ในครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 ธันวาคม 2565 ที่สถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ (โฮงเฮียนแม่น้ำของ) และขัวศิลปะ (ArtBridge) โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องมาบรรยายตลอดทั้งกิจกรรม
โดยในวันแรกผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ฟังบรรยายในหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง” โดยคุณนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และผู้อำนวยการสถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ จากนั้นเป็นการบรรยายหัวข้อ “จากเรื่องจริงสู่ภาพยนตร์ (Adapted from True Story)” โดยคุณปฏิภาณ บุณฑริก ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ และผู้ก่อตั้งเชียงรายฟิล์มคลับ (Chiang Rai Film Club) ก่อนที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ทุกคนจะได้แบ่งกลุ่ม และลงมือถ่ายทำภาพยนตร์สั้น เพื่อสะท้อนมุมมองต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง
ในวันที่ 2 ของกิจกรรม ทางโครงการฯ ได้รับเกียรติจากอาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะ มาบรรยายในหัวข้อ “ศิลปะเชียงราย กับเยาวชนคนรุ่นใหม่” ต่อด้วย ช่วงการบรรยายของคุณอุรุพงษ์ รักษาสัตย์ ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเชียงราย เจ้าของรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม กำกับภาพยอดเยี่ยม และภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม ที่มาร่วมบอกเล่าประสบการณ์ในหัวข้อ “การถ่ายทอดเรี่องราวท้องถิ่นผ่านสื่อภาพยนตร์” โดยกิจกรรมนี้ เปิดให้บุคคลทั่วไปที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนคำถามเกี่ยวกับการทำภาพยนตร์
ปิดท้ายโครงการ Mekong Film Workshop ด้วยการฉายภายนตร์ผลงานของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่เรื่อง Dead Kong, My life my river และคนโขง หลังจากนั้นวิทยากรได้ให้คำแนะนำ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้นำไปพัฒนาต่อยอดผลงานให้ก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพในอนาคต
Discussion about this post