
ผู้สื่อข่าวจังหวัดพัทลุงรายงานว่า ที่สำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จัดกิจกรรมเสวนา หัวข้อ”ตำนานและการตามหาช้างแคระทะเลน้อยครั้งที่ 1 โดยมีว่าที่ร้อยตรี สิทธิพร บาลทิพย์ ประธานชมรมคนรักเมืองลุง ในกรุงเทพฯ อุปนากสมาคมชาวปักษ์ใต้ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมเสวนา โดยมีนักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน กลุ่มอนุรักษ์ ชาวประมงในทะเลน้อยและสมาชิกมูลนิธิชุ่มน้ำทะเทน้อย ร่วมเสวนาและนำชิ้นส่วนที่พบในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยจำนวนหนึ่งมาแสดง ไม่ว่าจะเป็นส่วนของฟันช้าง กรามช้างและส่วนที่เป็นกระดูก โดยเชื่อว่าเป็นชิ้นส่วนของช้างแคระก่อนที่หายหายไปจากพื้นที่ทะเลน้อยเมื่อประมาณ 70 ปีที่ผ่านมา
นายสนธยา แก้วขำ ประธานมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย กล่าวว่า ช้างแคระทะเลน้อย เป็นตำนานที่ชาวบ้านเล่าต่อกับมาช้านาน แต่ก็ยังไม่ปรากฏเป็นหลักฐานที่มารองรับการมีอยู่จริงของช้างแคระ แต่เมื่อมูลนิธิได้ลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านและนักเรียนของโรงเรียนตรีพัทลุงกลุ่มหนึ่งไปทำการศึกษาเกี่ยวกับช้างแคระทะเลน้อย ก็มีข้อมูลที่น่าเชื่อได้ว่า ในเขตพื้นที่ทะเลน้อยเมื่ออดีตมีช้างอาศัยอยู่จริง แต่จะเป็นช้างแคระหรือไม่นั้น จะต้องค้นหากันต่อไป แต่อย่างไรก็ตามเมื่อทางมูลนิธิฯได้เคลื่อน ไหวตามหาร่องรอยช้างแคระทะเลน้อย ก็มีชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ครอบครองชิ้นส่วนของช้างทะเลน้อยไว้ ก็นำออกมาแสดงยืนยันได้ว่าเป็นชิ้นส่วนช้างแคระ
และข้อมูลที่น่าสนใจอีกส่วนหนึ่ง ก็เป็นเอกสารของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล นักอนุรักษ์ธรรม ชาติชื่อดังของประเทศไทยที่ล่วงลับไปแล้ว ได้กล่าวถึงเรื่องช้างแคระในหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ประจำวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2506 ว่า เมื่อสิบปีก่อน เคยพบช้างแคระหรือช้างค่อมถึง 2 ครั้ง พื้นที่บริเวณทิศเหนือของทะเลสาบสงขลา ครั้งแรกพบ 7 เชือก ครั้งที่ 2 จำนวน 4 เชือก ช้างแคระกำลังกินหญ้าอยู่ตามหนองน้ำ และมองเห็นได้ชัดว่ารูปร่างสูงใหญ่เหมือนควายของชาวบ้าน แต่เมื่อปี 2506 ได้ออกไปตามหาอีกครั้งก็ไม่พบช้างประเภทนี้อีกแล้ว
ว่าที่ร้อยตรี สิทธิพร บาลทิพย์ ประธานชมรมคนรักเมืองลุง ในกรุงเทพฯและอุปนากสมาคมชาวปักษ์ใต้ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ตำนานช้างแคระทะเลน้อยเป็นตำนานที่ยังสามารถค้นหาได้โดยคนในพื้นที่ เพราะอดีตที่ผ่านมาก็ไม่ยาวมากนัก มีชาวบ้านที่มีประสบการณ์โดยตรง เคยพบเห็นช้างที่ออกหากินอยู่บริเวณริมน้ำทะเลน้อย ส่วนจะเป็นช้างแคระหรือไม่อย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์ทางวิทยา ศาสตร์กันต่อไป แต่ในเบื้องต้นทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันเก็บข้อมูลและหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวกับช้างทะเลน้อยมาให้ได้มากที่สุด และถ้าหากมีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นช้างแคระ ก็ถือว่าเป็นความโชคดีของชาวพัทลุง ที่ค้นพบร่องรอยขชองช้างแคระเพียงแห่งเดียวของประเทศ ไทย
ทางด้านนายสมคิด ทองสง สมา คมแพทย์แผนไทย(ปัญญาวุธ) พัทลุง กล่าวว่า ตำนานช้างแคระทะเลน้อยมีการเล่าต่อกันมาตั้งแต่อดีต แต่ครั้งนี้ทางมูลนิธิฯได้จัดเสวนาในเชิงลึก เชิญผู้ที่สนใจและมีความรู้ทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ มาพูดคุยและพร้อมที่จะขับเคลื่อนค้นคว้าเกี่ยวกับช้างแคระทะเลน้อยให้จบขบวนความ โดยเฉพาะการส่งชิ้นส่วนของช้างที่พบในเขตทะเลน้อยและพื้นที่ใกล้เคียงพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ออกมาให้ได้ ว่าชิ้นส่วนของช้างที่ชาวบ้านเก็บรักษาไว้ จะเป็นช้างแคระที่ต่างกับช้างทั่วๆไปหรือไม่ และที่สำคัญการเสวนาครั้งนี้ จะเป็นการเริ่มต้นที่ท้องถิ่นให้ความสนใจ เกี่ยวกับประวัติบ้านเมือง และตำนานใกล้ตัว จังหวัดพัทลุงยังมีอะไรอีกมากที่จะต้องค้นคว้าศึกษาความเป็นมาให้ชัดเจน แต่ที่ผ่านมาเรามองและบันทึกแต่ประวัติเจ้าเมือง แต่ไม่ค่อยให้ความสำคัญทางด้านอื่นๆ อย่างกรณีที่พัทลุงมีตำนานขุนโจรดำหัวแพร ก็น่าจะศึกษาให้ได้ว่า ทำไมขุนโจรดำหัวแพรจึงบุกเข้าปล้นเจ้าเมืองและอีกหลายๆเรื่องที่น่าสนใจ
และอาจารย์บรรจง ทองสร้าง ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒน ธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กล่าวว่า ชิ้นส่วนของช้างที่ชาวบ้านรอบๆทะเลน้อยในพื้นที่ส่วนหนึ่งของจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรม ราชและจังหวัดสงขลานั้น เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าพื้นที่ทะเลน้อยและรอบๆเมื่ออดีตมีช้างอาศัยอยู่จริง และเท่าที่ดูเบื้องต้นก็เป็นชิ้นส่วนของช้างตัวขนาดเล็กกว่าช้างทั่วๆไป ก่อนหน้านี้ก็เคยเก็บชิ้นส่วนของช้างไปส่งให้มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งพิสูจน์ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีชิ้นส่วนน้อยเกินไป สำหรับตำนานช้างแคระทะเลน้อยนั้น เป็นตำนานที่น่าสนใจนอกจากชาวบ้านได้เล่าต่อกันมาแล้ว ก็ยังมีหลักฐานทางด้านอื่นสนุบสนุนอยู่มากมาย.
Discussion about this post