
วันที่ 15 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงาน จากการติดตามบรรยา กาศการประกอบอาชีพ ของเกษตรกรชาว จ.กาฬสินธุ์ในฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตใช้น้ำชลประทาน เช่น อ.เขาวง อ.นาคู ที่เคยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก พบว่าเกษตรกรที่ขุดบ่อเพื่อกักเก็บน้ำตามบ่อดิน ได้ลงมือเพาะปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย เพื่อเป็นอาหารในครัวเรือนและจำ หน่ายในชุมชน สร้างรายได้จุนเจือครอบครัว พืชประจำฤดูแล้งที่เกษตรทั่วไปนิยมปลูก เช่น ข้าวโพด หอม ผักชี ผักกาด ถั่วผักขาว มะเขือเทศ พริก พืชตระกูลแตง ทั้งนี้จากการสอบถาม พบว่าปัญหาหลักๆที่เกษตรยังประสบอยู่ โดยที่ไม่มีหน่วยงานราชการเข้ามาควบคุมราคาที่เป็นธรรม คือราคาปุ๋ยเคมีตามท้องตลาดที่ยังมีราคาสูงลิ่ว
นายพร้อมพงศ์ พิมเภา อายุ 36 ปี เกษตรกรบ้านแสนสุข เขตเทศ บาลตำบลกุดสิม อ.เขาวง จ.กาฬ สินธุ์ กล่าวว่า ตนเป็นเกษตรกรโดยสายเลือด เดิมใช้เวลาว่างไปจัดรายการเป็นดีเจวิทยุชุมชนแห่งหนึ่ง ในชื่อ “บาสรณชัย หนุ่มเมืองน้ำดำ” เรตติ้งค่อนข้างสูง มีแฟนรายการประจำทั้งส่งจดหมายและโทรมาขอเพลงนับ 1,000 คน แต่ระยะหลังการประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีความหลากหลายมากขึ้น โดยปรับเปลี่ยนวิธีการ เกษตรจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นการเกษตรผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการเพาะปลูกพืชที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพิ่มเติมด้วยการเลี้ยงสัตว์ วัว ควาย และหนูนา จึงต้องให้เวลาอยู่กับแปลงพืชผักมากขึ้น ขณะที่การเป็นดีเจจัดรายการไม่ค่อยจะเวิร์ค สปอนเซอร์ไม่เข้า ไม่คุ้มค่ากับเวลาที่ใช้ไป จึงเลือกที่จะหันหลังให้กับวงการขายเสียงหลังไมค์ มาเป็นเกษตรกรเต็มตัว
นายพร้อมพงศ์ อดีตดีเจวิทยุชุมชนกล่าวอีกว่า การประกอบอาชีพเกษตรกรรมในยุคใหม่ ที่ไหลไปตามกระแสตลาด เร่งผล ผลิตแข่งกับเวลาและให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค เช่น มีการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี และฮอร์ โมนบำรุงพืชต่างๆ ที่นอกจากจะเป็นการเพิ่มทุนการผลิตแล้ว ยังส่งผลข้างเคียงต่อตัวเกษตรกรและผู้บริโภค คือเกิดสารพิษตก ค้างและทำให้ดินเสื่อมโทรม โดยเฉพาะหลังสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยว หักลบกลบหนี้แล้วพบว่าขาดทุน สาเหตุหลักคือค่าปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้นทุกวัน กระสอบนึงน้ำหนัก 50 ก.ก.ราคาในปัจจุบัน 1,400-1,500 บาททีเดียว
“ระยะหลังตนจึงหันมาใช้ปุ๋ยคอกเป็นหลัก แต่เดิมใช้เพียงมูลควายบำรุงพืช ตามวิถีเกษตรกรดั้งเดิม ทำให้พืชเจริญเติบโตดี ได้ผล ผลิตที่ปลอดภัย ลดรายจ่ายโดยไม่ต้องไปซื้อปุ๋ยเคมีมาเสริม อย่าง ไรก็ตาม หลังจากที่ทำฟาร์มเลี้ยงหนูนามา 5 ปี ซึ่งทำให้เกิดมูลหนูนาจำนวนมาก จึงได้ทดลองนำมูลหนูนามาผสมกับปุ๋ยคอก เพื่อเพิ่มปริมาณปุ๋ยคอกให้เพียงพอต่อการ นำไปบำรุงพืช ก็เห็นความแตกต่างหลายกรณี เหมือนเป็นการปรุงอาหารเมนูใหม่ให้กับพืชในแปลงเกษตร ทำให้พืชที่ปลูก เช่น ข้าวโพด หอม ผักชี เติบโตเร็ว รักษาความเขียว สดชื่น ทนแดด มีภูมิต้านทานโรคดีขึ้น ให้กลิ่นและมีรสชาติที่แตกต่างจากเดิม แมลงศัตรูพืชไม่รบกวน ถือเป็นการปรุงปุ๋ยคอกระหว่างมูลควายกับมูลหนูนาสูตรใหม่เจ้าแรกในพื้นที่นี้ ที่สำคัญไม่ต้องเปลืองเงินไปซื้อปุ๋ยเคมี เมื่อเห็นผลดีดังกล่าว ในเวลาว่างก็จะนำมูลหนูนามาผสมกับมูลควายกักตุนไว้ สำหรับนำไปบำรุงต้นข้าวในฤดูกาลทำนาที่จะถึง” นายพร้อมพงศ์กล่าวในที่สุด.
Discussion about this post