
ที่วัดพระธาตุดอยกองมู โดยพระสุมณฑ์ศาสนกิตติ์ เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยกองมู นำคณะศรัทธา สาธุ ชน จัดงานประเพณีปอยส่างลอง ประจำปี 2566 ถือว่าเป็นแห่งแรกที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่จัดงานประเพณีนี้ เพื่อร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวไทใหญ่ให้คงอยู่ อีกทั้งเพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนศึกษาพระธรรมคำสอน สร้างจิตสำนึกกตัญญูรู้คุณต่อบิดามารดาและผู้มีพระคุณ
คำว่า “ปอยส่างลอง” เป็นภาษาไทใหญ่ “ปอย” แปลว่า งาน เช่นงานปอยเหลินสิบเอ็ด ปอยจ่าตี่ “ส่าง” เพี้ยนมาจาก สางหรือขุนสาง หมายถึง พระพรหม หรืออีกความหมายหนึ่งมาจากคำว่าเจ้าส่าง ซึ่งหมายถึงสามเณร ส่วนคำว่า “ลอง” มาจาก “อลอง” หมายถึง พระโพธิสัตว์ หรือหน่อพุทธางกูร (หน่อเนื้อเชื้อไขพระพุทธเจ้า) หรือราชบุตร
ตามความเชื่อดั้งเดิมของการจัดงานปอยส่างลองนั้น จะต้องมีพิธีต่างๆ เพื่อเตรียมตัวก่อนบวชอยู่ 3-4 วันด้วยกัน ได้แก่ วันแรก เรียกว่า วันรับส่างลอง ในตอนเช้าเจ้าภาพส่างลองจะนำบรรดาเด็กชายไปวัด เพื่อแต่ชุดส่างลอง วันที่ 2 เรียกว่า วันข่ามแขก คือ วันรับแขกนั่นเอง จะเป็นวันที่ญาติพี่น้องจากหมู่บ้านอื่นมาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกัน วันที่ 3 เรียกว่า วันแห่ครัวหลู่ เป็นวันแห่งเครื่องไทยทาน มีการแห่ส่างลองกับเครื่องไทยทานจากวัดไปตามถนนสายต่างๆ ขบวนแห่ประกอบด้วยจีเจ่ (กังสดาล) ม้าเจ้าเมืองต้นตะเป่ส่าพระพุทธ ต้นตะเป่ส่าพระสงฆ์ ปุ๊กข้าวแตก เทียนเงินเทียนทอง พุ่มเงินพุ่มทอง อู่ต่องปานต่อง หม้อน้ำต่า อัฐบริขาร ดนตรีประโคมและขบวนแห่ส่างลอง โดยให้ส่างลองขี่คอพี่เลี้ยงเรียกว่า “ตะแปส่างลอง” มีกลดทอง หรือ ” ทีคำ” แบบพม่าไว้บังแดด ช่วงเย็นวันเดียวกัน มีพิธีเรียกขวัญส่างลอง หรือพิธีทำขวัญนาค วันที่ 4 เรียกว่า วันข่ามส่าง หรือวันหลู่ วันบรรพชาส่างลอง นำส่างลองไปบรรพชาเป็นสามเณรในวันข่ามส่าง ผู้คนจะมาชุมนุมกันที่วัดกันตั้งแต่เช้า จนได้เวลาพอสมควรก็จะมีการ ถ่อมลีก คืออ่านหนังสือธรรมะให้ทุกคนฟังอันเป็นการกล่อมเกลาจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในความดีซึ่งถือเป็นประเพณีสืบทอดกันมานาน เมื่อได้เวลาฉันเพลก็จะมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่นิมนต์มาร่วมพิธีบรรพชาสาม เณรก่อนแล้วจึงเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมงานพิธีเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี..
Discussion about this post