วันที่ 25 มีนาคม 2566 ที่โรงแรมยู นิมมานเชียงใหม่ นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สมัยที่ 23 เป็นประธานเปิดประชุมใหญ่สามัญสมาชิกหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารหอการค้า สมัยที่ 24 ประจำปี 2566-2567 มีนายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมคณะกรรมการสมาชิก และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมกว่า 200 คน
จากนั้น นายสมชาย ทองคำคูณ รองประธานหอการค้า และประธานจัดการเลือกตั้ง ได้ชี้แจงรายละเอียด และเชิญสมาชิกลงคะแนนเลือกคณะกรรมการ 31 คน ก่อนให้คณะกรรมการลงคะแนนเลือกประธานหอการค้าคนใหม่ตามลำดับ ปรากฏว่าคณะกรรมการ ลงคะแนนด้วมติเอกฉันท์ ให้นายจุลนิตย์ เป็นประธานหอการค้าเชียงใหม่ สมัยที่ 24 เป็นสมัยที่ 2ติดต่อกัน โดยใช้เวลาเพียง 10 นาที
ต่อมานายจุลนิตย์ พร้อมคณะกรรมการหอการค้า สมัยที่ 24 ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ก่อนตัวแทนชมรมธนาคาร จ.เชียงใหม่ และภาคเอกชน ได้มอบช่อดอกไม้ เพื่อแสดงความยินดี โดยมีนายนิตย์ วังวิวัฒน์ อดีตประธานหอการค้า จ.เชียงใหม่ สมัยที่ 6 บิดานายจุลนิตย์ พร้อมครอบครัว ได้ร่วมมอบช่อดอกไม้ เพื่อแสดงความยินดีแก่บุตรชาย ที่ได้รับเลือกเป็นประธานหอการค้า สมัยที่ 2 ด้วย
นายจุลนิตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ขอขอบคุณสมาชิก และคณะกรรมการที่ไว้วางใจรับหน้าที่ดังกล่าว เป็นสมัยที่ 2 เพื่อมอบหมายให้ทำงานต่อเนื่อง พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรโดยร่วมมือภาคการศึกษา พัฒนาหลักสูตรให้ตรงความต้องการผู้ประกอบการ โดยเฉพาะหลักสูตรปริญญาโท ที่เรียนควบคู่ทำงานไปด้วย และบัตรสมาชิกบางจาก ซึ่งเป็นบัตรเครดิตที่มีการคืนเงินแก่ผู้ใช้บริการ พร้อมส่วนลดต่าง ๆ ถือเป็นสวัสดิการแก่สมาชิก
ส่วนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ หรือเมกกะโปรเจ๊ค ได้ร่วมกับหอการค้าลำพูน ลำปางเชียงราย และเชียงใหม่ รวม 4 จังหวัด เพื่อผลักดันขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือระเบียบเศรษฐกิจภาคเหนือร่วมกับภาครัฐ ทั้งระยะสั้น กลาง และระยะยาว ตามลำดับ
นายจุลนิตย์ กล่าวอีกว่า ปี 66 แนวโน้มเศรษฐกิจเชียงใหม่ และภาคเหนือ น่าฟิ้นตัวและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ไตรมาส4 เนื่องจากไตรมาสแรก เศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น แต่การจับจ่ายใช้สอยยังทรงตัว ดังนั้นต้องดูไตรมาสที่ 2 ในช่วงงานปี๋ใหม่เมืองหรือสงกรานต์ เมษายนนี้ว่ามีสัญญาณบวกหรือไม่ ประกอบกับผู้ประกอบการยังเก็บเงินทุนสำรองบางส่วนยังไม่ลงทุนเต็มร้อย จนกว่าสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงลงทุนดังกล่าว
กรณีรัฐบาลยุบสภา ซึ่ง กกต. กำหนดเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมนั้น อยากให้รัฐบาลใหม่ ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม ส่วนภาคเอกชน ต้องติดตาม ตรวจสอบผลักดัน มีส่วนร่วมกับนโยบายดังกล่าวมากขึ้น เพื่อให้การพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายมากขึ้น
Discussion about this post