
ผู้ประกอบการธุรกิจ รวมทั้งแรง งานบนเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กว่า 400 คน ยังคงชุมนุมบริเวณถนนคนเดินเรียกร้องให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผ่อนผันการรื้อถอนสถานประกอบการ ที่พัก ที่ไม่ได้จดทะเบียน เพราะทำให้คนตกงานและกระทบการท่องเที่ยว พร้อมยืนยันว่า พวกตนไม่ใช่คู่ขัดแย้งของชาวเล และสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจเกาะหลีเป๊ะยังมีโครง การจัดหาเส้นทางสาธารณะอื่นก่อนที่จะเกิดข้อพิพาท กลุ่มผู้ประกอบการ ยืนยันว่า ที่ผ่านมามีความพยายามในการยื่นขอจดทะเบียนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จและยืนยันว่าทุกคนอยากจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหากมีการบังคับใช้กฎหมายตามที่คณะกรรมการแก้ปัญหาข้อพิพาทบนเกาะหลีเป๊ะจะเร่งดำเนินการอยู่นั้น โดยไม่มีการพูดคุยสอบถาม จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่บนเกาะ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ ซึ่งจะต้องเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันร้านจำหน่ายสินค้าก็จะพลอยขายไม่ได้ไปด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อการท่องเที่ยว
นายมุกตา บู่เอียด นายกสมาคมผู้ประกอบการเกาะหลีเป๊ะ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ข้อพิพาทเรื่องที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะจนเป็นเหตุให้มีการตรวจสอบเอกสารที่ดินแปลงอื่นๆ โดยบังคับใช้กฎหมายเต็มรูปแบบมาดำเนินการกับผู้ประกอบการนั้น เหตุดังกล่าวได้ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการโรงแรมจำนวน 111 แห่ง ร้านค้า 250 แห่ง รวมจำนวนผู้ประกอบการและลูกจ้างกว่า 4,500 คน ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้และส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งเกาะหลีเป๊ะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่สร้างชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยในปีหนึ่งๆ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเกาะหลีเป๊ะผ่านท่าเทียบเรือปากบารา อำเภอละงู ราว 140,000 คน มีทั้งคนไทยและต่างชาติสร้างรายได้ให้จังหวัดสตูลเกินกว่า 4 พันล้านบาทต่อปี เกาะหลีเป๊ะจึงเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เป็นแหล่งรายได้หลักให้แก่จังหวัดสตูลและประเทศไทย
นายมุกตา กล่าวว่า ผู้ประกอบการและชาวเลอุรักษ์ลาโว้ยอยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยมาเป็นเวลานานเกือบ 30 ปี ในช่วงเวลาที่วิถีชีวิตของชาวเลอุรักษ์ลาโว้ยเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการก็ยืนอยู่เคียงข้างไม่เคยเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของผู้อยู่อาศัยดั้งเดิม ทั้งการจ้างงาน การสร้างอาชีพให้เรือหางยาวท้องถิ่นทดแทนการหาปลาในเขตอุทยานฯ รวมถึงการแก้ปัญหาต่างๆ บนเกาะหลีเป๊ะ เช่นเดียวกับปัญหาเกี่ยวกับถนนสาธารณะ ผู้ประกอบการได้จัดโครงการระดมทุนซื้อที่ดินตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 โดยมีวัตถุประ สงค์เพื่อที่จะสร้างถนนบรรเทาทุกข์เปิดเส้นทางเข้าออกโรงพยา บาลส่งเสริมสุขภาพเกาะหลีเป๊ะ ที่มีทางเข้าออกลำบากและเส้นทางเข้าโรงเรียนสำหรับเด็กนักเรียนได้ใช้ทางลัดในการเข้าโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะทดแทนเดินอ้อมเข้าทางบริเวณด้านหน้าหาด โดยโครงการนี้สมาคมได้ขอความเห็นชอบกับหลายฝ่าย ทั้งโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งสมาคมได้จัดทำโครงการนี้ก่อนเกิดข้อพิพาท ต้องการจะแสดงเจตนารมณ์ที่จะช่วยบรรเทาทุกข์ให้ชาวเลออุรักลาโว้ยมาโดยตลอด นอกจากนี้ สมาคมยังได้ช่วยเหลือชาวบ้านในสถานการณ์โควิด-19 ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ได้ระดมทุนตั้งศูนย์ช่วยเหลือดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ระดมของบริจาค ทั้งถุงยังชีพยารักษาโรค เครื่องผลิตออกซิเจน รวมถึงเครื่องช่วยหายใจผู้ป่วยวิกฤต
นายมุกตา กล่าวว่า ผู้ประกอบการไม่เคยนิ่งนอนใจต่อปัญหาเอกสารสิทธิ์ ยินดีให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเอกสาร ซึ่งผู้ประกอบการนั้น แท้จริงแล้วเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเอกสารสิทธิ์ที่มีความไม่ชัดเจนมาช้านาน โดยหน่วยงานของรัฐได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ เช่นคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 6/2562 เรื่องมาตรการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการประกอบธุรกิจโรงแรมบางประเภท โดยรัฐมีนโยบายส่งเสริมการประกอบอาชีพสุจริตของชุมชน เพื่อให้เศรษฐกิจมีความคล่องตัวเกิดการกระจายรายได้สร้างงาน ขณะเดียวกันก็ลดความขัดแย้งในชุมชน และจัดให้กิจการที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีการบริหารจัดการที่ดี และมีการตรวจสอบควบคุมโดยรัฐ
“โอกาสนี้ให้ทางภาครัฐผ่อนผันการใช้มาตรการเข้มงวดทางกฎหมายที่จะนำมาใช้กับผู้ประกอบการบนเกาะหลีเป๊ะ เพื่อรับผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวและรายได้ของผู้ประ กอบการ โดยขอให้ พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่วยผลักดันนำร่างพระราชบัญญัติการปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 35 พุทธศักราช 2535 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพุทธศักราช 2522 การกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างอาคารบางชนิดหรือบางประเภทบริเวณเกาะหลีเป๊ะ และที่มีพื้นที่ทับซ้อนกับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม นำร่างฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและชาวเลอุรักษ์ลาโว้ย ที่อาศัยอยู่บนเกาะหลีเป๊ะร่วมกันมายาวนานกว่า 30 ปี ให้ประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้อง” นายมุกตา กล่าว
นายมุกตา กล่าวว่า ผู้ประกอบการมิใช่คู่ขัดแย้งกับชาวเลเกาะหลีเป๊ะและหน่วยงานราชการ แต่เป็นประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากข้อกฎหมาย ที่ผ่านการดำเนินการจากหน่วยงานราชการมาหลายช่วงเวลา จึงขอความเห็นใจมายัง พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล ชะลอการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดกับผู้ประกอบการ ให้โอกาสผู้ประกอบการได้ดำเนินการให้ธุรกิจเข้าไปอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง โดยขอผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เพื่อลดความขัดแย้งในชุมชน ภาครัฐเข้ามาควบคุมและตรวจสอบได้ นักท่องเที่ยวได้รับบริการอย่างมีคุณภาพและเป็นธรรม สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทยด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลอดจนลดความขัดแย้งในสังคมไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินของอุทยานแห่งชาติจำนวน 8 จุด ซึ่งล่าสุดกรมอุทยานได้มีคำสั่งให้มีการรื้อถอนพื้นที่ทั้งหมด โดยมีการปักป้ายเตือนไปแล้ว โดยมีเจ้าของ 3 รายยินยอมให้หรือถอน ส่วนอีก 5 รายยังอยู่ระหว่างการฟ้องอุทธรณ์ โดยภายในวันที่ 31 มี.ค. รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะลงพื้นที่ไปกำกับดูแลการรื้อถอนและการดำเนินคดีกับผู้ที่บุกรุกพื้นที่อุทยานตามโฉนดหมายเลข 11.
สโรชา ยกชม/สตูล
Discussion about this post