วันนี้ โดยผู้สื่อข่าวฯ ได้เดินทางไปพบนางอำพรรณ อมรไตรศรี อายุ 59 ปี ประธานกองทุนหมู่บ้านชุมชนรถไฟนครลำปาง ได้เปิดเผยว่า ตนเองได้เข้ามาเป็นประธานกองทุนเมื่อปี 2563 หลังจากประธานกองทุนคนเดิมได้เสียชีวิตไป ขณะนั้น ซึ่งมีเงินอยู่ 8 แสนบาท จึงได้เข้าไปออกกฎระเบียบให้สมาชิกที่กู้ได้ต้องเป็นสมาชิก 6 เดือน มีเงินออม 600 บาทมาแล้ว 6 เดือน โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ 10 คน
“ที่ต้องให้สมาชิกมีเงินออมอย่างน้อย 600 บาท มาตลอด 6 เดือน ก่อนจะกู้เงินตรงนี้ เราจะได้รู้ว่ามีศักยภาพคืนได้ พอรวมตัวกันในปี 2563 ก็มาดูว่าสมาชิกคนเก่ากับคนใหม่ที่มีเป็นใครบ้าง ก็พบคนที่มีหนี้เก่าไม่จ่ายซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานรถไฟอยู่บ้านพักรถไฟไม่จ่ายเงิน คือแรกๆปี 2563 ก็จ่าย แต่พอ เม.ย. 2564 เริ่มอ้างว่าเดือดร้อนเพราะวิกฤตโควิด” นางอำพรรณ ยังกล่าวอีกว่า หลังจากประธานกองทุนหมู่บ้านชุมชนรถไฟนครลำปางคนเก่าเสียชีวิตเมื่อปี 2563 พบบัญชีหนี้ค้างเก่าจากสมาชิกเดิมเกือบ 1 ล้านบาท “ตอนปี 2563 มีเงินในบัญชีเหลือ 8 แสนบาท เราเลยตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 10 คน แล้วคณะกรรมการเห็นว่าควรเอาเงินนี้ไปให้สมาชิกกู้ เลยเริ่มปล่อยเงินให้กู้”
นางอำพรรณ ประธานกองทุนหมู่บ้านชุมชนรถไฟฯ ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีสมาชิก 58 คน เป็นพนักงานรถไฟ 40 กว่าคน มีคนไม่จ่ายหนี้กองทุนเลย 24 คน ขอจ่ายบ้าง 6 คน คนที่ยังค้างชำระกองทุน 13 คน เป็นพนักงานรถไฟ 7 คน ขายของในตลาดเก๊าจาว 6 คน และมีคนที่สามารถกู้กองทุนโดยไม่ติดอะไร 3 – 4 คน “เงินจากกองทุนนอกจากให้กู้แล้ว เรายังเอาไปติดโซล่าร์เซลล์ ทำท่อระบายน้ำ แก้ปัญหาตลาดเก๊าจาวสกปรก แต่สมาชิกบางคนไม่มีจิตสำนึก กู้เงินกองทุนแล้วไม่จ่าย ตอนนี้เรามีเงินแต่ไม่มีคนกู้ เพราะเป็นหนี้เราไม่ยอมจ่ายเลยมากู้อีกไม่ได้ อยากให้ทางผู้บริหารหรือผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท.) มาดูแลพนักงานรถไฟหน่อย บางคนมีเงินเดือน 4 หมื่นกว่าบาท แต่ไม่จ่ายเงินกองทุน แค่เดือนละ 200-300 บาท ทำไมจ่าไม่ได้ เราคิดดอกเบี้ย 650 บาทต่อปี ขาดเงิน 1 หมื่นบาทที่กู้ ยังไม่จ่ายเลย บางคนเบี้ยวเราไใ่คิดดอกเยี้ด้วยซ้ำ ก็ไม่จ่าย” ประธานกองทุนหมู่บ้านชุมชนรถไฟนครลำปาง กล่าว
นางอำพรรณ ยังกล่าวอีกว่า ทางกองทุนมีวัตถุประสงค์ต้องการให้คนในชุมชนมีแหล่งเงินทุนได้ไปประกอบอาชีพหรือช่วยเหลือเมื่อเดือดร้อน กรรมการกองทุนมาดูแลไม่เคยมีค่าใช้จ่าย แต่ทุกวันนี้สมาชิกกองทุนซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานรถไฟกู้เงินแล้วไม่ใช้หนี้ ทำให้การดำเนินงานของกองทุนเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ดังนั้นอยากให้ผู้บริหารลงมาดูแลความเป็นอยู่ของพนักงานรถไฟบ้าง
ทั้งนี้ทางด้านนายฤทธิ์ นำโชคอนันตชัย อายุ 63 ปี หรือ ลุงหนวดข้าวนึ่ง พ่อค้าในตลาดแห่งหนึ่งมาตั้งแต่ปี 2554 หนึ่งในสมาชิกกองทุนที่กู้เงินแล้วไม่สามารถใช้คืนได้ตามกำหนด เปิดเผยว่า ขายของที่ตลาดแห่งนี้ปัจจุบันนี้มีค่าเช่าวันละ 350 บาท จากอดีต 180 บาท ค่าไฟหน่วยละ 9 บาทค่าน้ำจากที่เคยมีมิเตอร์ก็ถูกถอดออกมาเป็นหยอดเหรียญ ราคาค่าแก๊สก็ขึ้น เจ้าของตลาดไม่สนใจว่าจะมีคนขายหรือไม่ สนใจแค่จะมีคนซื้อหรือเปล่า
“ผมก็ไปกู้กองทุนหมู่บ้านมาแล้วไม่สามารถคืนได้ เพราะค่าใช้จ่ายที่ตลาดตอนนี้เพิ่มขึ้นมาก จากเมื่อก่อนมีกำไร 4,000 บาท ทุกวันนี้ลดลงกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ค่าน้ำทาวเจ้าของตลาดยึดไปทำเชิงพาณิชย์ เมื่อก่อนมีแม่ค้า 400 กว่าคนตอนนี้เหลือ 200 กว่าคน เค้าไม่ง้อคนขายสนใจแต่คนซื้อ ผมอยากรู้ว่าถ้าไม่มีคนขายคนจะมาซื้ออะไร นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมกู้เงินกองทุนมาแล้วไม่สามารถส่งคืนได้เหมือนเดิม” นายฤทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ จากการสอบถามเรื่องสมาชิกกองทุนพบว่า ทางพนักงานการรถไฟส่วนใหญ่กู้เงินไปแล้วไม่ยอมใช้คืนจนทำให้ปัจจุบันกองทุนหมู่บ้านไม่สามารถดำเนินกิจการให้กู้ต่อไปได้
Discussion about this post