วันนี้ (2 มิ.ย.66) ที่แปลงนาสาธิตศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนสังวาลย์วิท 5 ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง เป็นประธานเปิดกิจกรรมเกี่ยวข้าวกับชาวสังวาลย์ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 ตามโครงการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาโรงเรียนสังวาลย์วิท 5 เพื่อให้นัก เรียนได้เห็นคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญของข้าว เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียน และนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน สร้างโอกาสการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การปลูกข้าวทำนาดำ ระหว่างผู้บริหาร ครู นัก เรียนผู้ปกครองและชุมชน จนกระทั่งการเก็บเกี่ยงผลผลิต ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาของชาวนา โดยมี ร.ต.อ.สิทธิพงศ์ เหมกุสุมา นายก อบต.ยะรม นางสาวคาดียะห์ อามานะกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสังวาลย์วิท 5 หัวหน้าส่วนราชการ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ปก ครอง คณะครู นักเรียน เข้าร่วม
นางสาวคาดียะห์ อามานะกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสังวาลย์วิท 5 กล่าวว่า โรงเรียนสังวาลย์วิท 5 เป็นโรงเรียนในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (โรงเรียนสมเด็จย่า) ซึ่งเป็นโรงเรียนในโครงการพระราชดำริ และเป็นโรงเรียนคุณภาพของชุมชน ประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลาเขต 3 ทางโรงเรียนได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ สนับสนุน ส่งเสริมให้คณะครูและบุคลากร รวมถึงนักเรียน ได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน ได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนเอง เป็น “ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา” ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า คณะครูได้มีวิธีการนำหลักปรัช ญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้เป็นรูปธรรม อยู่หลากหลายรูปแบบ ประกอบด้วย การเลี้ยงปลาในบ่อดิน การปลูกพืชผักสวนครัว การเพาะเห็ดนางฟ้า การทำปุ๋ยหมัก ปุ้ยชีวภาพ การปลูกข้าว ทำนาดำ ในแปลงนาสาธิต บนพื้นที่ประมาณ 200 ตารางวา รวมถึงการปลูกผลไม้ตามฤดูกาล ได้แก่ เงาะ มังคุด ทุเรียน ลองกอง กล้วย ขนุน กระท้อน มะยงชิด มะละกอ และต้นอ้อย บนพื้นที่ของโรงเรียนรวม 24 ไร่ 3 งาน ส่งผลให้ผู้บริหาร ครู และนักเรียนสามารถเข้าถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนำมาเป็นวิถีปฏิบัติ มีทักษะการดำรงชีวิต (living skil) และทักษะชีวิตหรือ life skill ได้อย่างแท้จริง
ผู้อำนวยการโรงเรียนสังวาลย์วิท 5 กล่าวอีกว่า ในส่วนของแปลงนาสาธิตของโรงเรียนสังวาลย์วิท 5 จัดทำขึ้นเพื่อให้นักเรียนในพื้นที่ อ.เบตง ได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวนา เนื่องจาก อ.เบตง ไม่มีแปลงข้าว มีแต่สวนยางพาราและสวนผลไม้ต่างๆ ซึ่งตนอยากให้นักเรียนได้เห็นนอกจากในหนังสือเรียน ว่ากว่าจะมาเป็นข้าวที่เราได้กินกัน มีทีมา ที่ไปอย่างไรนักเรียนจะได้ทราบถึงประโยชน์และมีคุณค่าของข้าวต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้เรียนรู้การปลูกข้าวดำนาจากครูภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน สามารถทราบถึงขั้นตอนในการสีข้าวและเก็บไว้เพื่อใช้บริโภค สำหรับเป็นอาหารกลางวันให้กับนักเรียน
นางสาวคาดียะห์ กล่าวเพื่มเติมว่า สำหรับข้าวที่นำมาปลูกในแปลงนาสาธิตศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ทางโรงเรียนสังวาลย์วิท 5 ได้รับการการสนับสนุนเมล็ดข้าวพันธุ์ช่อขิง จากผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกระอาน อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เพื่อใช้เป็นต้นกล้าในการเพาะปลูกข้าวในครั้งนี้ โดยมีนางละออ ฉีดเสน ปราชญ์ชาวบ้านมาร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้กับนักเรียน ซึ่งข้าวช่อขิงเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ข้าวชนิดนี้ได้หายไปจากท้องถิ่นเป็นเวลานานทีเดียว เพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักพันธุ์ข้าวชนิดนี้แล้ว เว้นแต่คนแก่ในท้องถิ่น ลักษณะของข้าวเมื่อสีออกมาแล้วจะมีสีแดงคล้าย ๆข้าวสังหยด มีคุณค่าทางธาตุอาหารสูงกว่าข้าวหอมมะลิหลายเท่าตัว เป็นข้าวเกษตรอินทรีย์ 100% เป็นพันธุ์ข้าวดั้งเดิม การสีก็สีข้าวแบบข้าวกล้อง เมื่อหุงออกมาแล้วจะมีกลิ่นหอมเป็นลักษณะเฉพาะตัว.
Discussion about this post