ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Sansonthi Boonyothayan นักพิภพวิทยา และข้าราชการบำนาญกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้โพสต์เฟซบุ๊กไว้ว่า จังหวัดสกลนคร …..ต้องรีบทำแผนปฏิบัติการ “เผชิญเหตุภัยแล้ง” เป็นการด่วน จากรายงาน อดีตหัวหน้าสถานีตรวจอากาศสกลนคร เห็นสัญญาณอันตราย 2 ประการคือ 1.ระดับน้ำในหนองหารลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะมีอัตราระเหย 5 – 6 ม.ม ต่อวัน หมายถึงการสูญเสียน้ำ 8 – 9 คิว / ไร่ / วัน ถ้าหนองหารมีพื้นที่ผิวน้ำราวๆ 50,000 ไร่ จะสูญเสียวันละ 400,000 – 450,000 คิว 2.ปริมาณน้ำฝน VS อัตราการระเหย เดือนพฤษภาคม 2566 มีสัดส่วน 1:2.5 หมายถึง หนองหารได้น้ำฝน 1 ลิตร แต่สูญเสีย 2.5 ลิตร ถ้าเป็นระบบ “กรุงไทยธนวัตร” เรียกว่า “บัญชีติดลบ” โดยมีภาพถ่ายบริเวณฝั่งหนองหารทางทิศตะวันออกสวนสาธารณะสระพังทอง ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร เผยให้เห็นสภาพหนองหารที่ตื้นเขินและระดับน้ำลดต่ำลงกว่าปกติ
และโพสต์ต่อมา หนองหารวันนี้ 1 มิ.ย 2566 ลดระดับอย่างน่าเป็นห่วงเป็นแหล่งน้ำแห่งเดียวที่ชาวเมืองในเขตเทศบาลและชุมชนรอบๆต้องใช้อุปโภคบริโภค …สาเหตุหลักเนื่องมาจากปรากฏการณ์ “เอลนิงโญ่” (El Nino) เกิดคลื่นความร้อนและฝนทิ้งช่วง เดือนเมษายนและพฤษภาคม น้ำหนองหารระเหยวันละ 8 – 9 คิว ต่อพื้นผิวน้ำ 1 ไร่ ถ้ามีพื้นที่ 50,000 ไร่ จะสูญเสียน้ำวันละ 400,000 – 450,000 คิว ขณะเดียวกันปริมาณน้ำฝนเดือน พฤษภาคม 2566 มีเพียง 68 ม.ม. เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันปี 2565 มี 250 ม.ม. ข้อมูลเหล่านี้มาจากสถานีตรวจอากาศสกลนคร
ความคืบหน้าของเรื่องนี้ วันที่ 3 มิถุนายน 2566 นายสรรค์สนธิ บุณโยทยาน กล่าวว่า มีความเป็นห่วงว่าทำไมน้ำหนองหารซึ่งเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของคนสกลนครเขตเทศบาลนครสกลนคร จึงเกิดปรากฏการณ์แห้งผิดปกติตนมีเหตุผล อันที่ 1.ถ้าไล่ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมาอากาศเราร้อนจัดปริมาณการระเหยของน้ำจะมากที่สุดพอมาถึงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม ปริมาณน้ำฝนที่ลงมาในหนองหารกับปริมาณน้ำที่ระเหยไปอัตราส่วนอยู่ระหว่าง 1: 2.5 ตัวอย่างสมมุติว่ามีน้ำ 1 ลิตร แต่น้ำหายไปถึง 2.5 ลิตร ขณะเดียวกันปริมาณน้ำฝนถ้าเปรียบเทียบเดือนพฤษภาคมของปี 2565 เรามีน้ำฝนตกลงมา 250 มิลลิเมตร ปีนี้ 2566 เดือนเดียวกันอยู่เพียง 68 มิลลิเมตร เท่านั้น น้ำหายไปตั้ง 3-4 เท่าตัว
และอีกประการอากาศร้อนจัดอย่างนี้ปริมาณการใช้น้ำของอุปโภคบริโภคก็มากขึ้นตามตัว ฉะนั้นจึงไม่แปลกใจว่าหนองหารจึงอยู่ในสภาพแบบนี้ ถ้ามีคนถามในเฟซบุ๊กว่าจะให้ทำยังไงจะแก้ยังไงมีแค่ 2 แนวทาง อันที่ 1 สนง.ประปา อาจจะต้องขอความร่วมมือให้ใช้น้ำเท่าที่จำเป็นหรือถ้าวิกฤติ อาจจะส่งน้ำเป็นรอบเวร อันที่ 2.เราอาจจะต้องยื่นท่อสูบน้ำวางท่อใต้น้ำ ยื่นไปกลางหนองหาร เพราะว่าทุกวันนี้เราสูบน้ำริมหนองหารเข้าไปผลิตน้ำ ประปาหากบริเวณสูบน้ำตื้นเขินมากๆ คุณภาพน้ำดิบอาจจะไม่ดีเท่าที่ควร และนี่คือความเห็นของตน ดังนั้นจังหวัดจะต้องตั้งวอร์รูมเพื่อเตรียมเผชิญเหตุภัยแล้ง โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทำแผนเผชิญเหตุเร่งด่วน
อีกทั้งดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาของสหรัฐอเมริกา องค์การนาซ่าในมหาสมุทรแปซิฟิก เผยให้เห็นคลื่นความร้อนที่เราประสบทุกวันนี้คือกองทัพหน้า จะทำให้ปริมาณน้ำฝนน้อยหรือทิ้งช่วงไปถ้าปริมาณน้ำฝนน้อยลงน้ำที่จะลงหนองหารจะน้อยลงด้วยจึงอยากให้มีการเตรียมการแต่เนิ่นๆ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ข้อมูลปริมาณน้ำหนองหาร ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ระบุไว้ว่า ความจุอยู่ที่ 266.924 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ที่ 128.627 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48.19 ของปริมาณเก็บกัก แต่ก็ไม่ประมาท เพราะจากห้วงที่ผ่านมาแม้จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้วแต่ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในหลายพื้นที่น้อยอย่างเห็นได้ชัดจึงควรจะต้องมีการเตรียมการรับมือ.
//////////////////// วัฒนะ แก้วก่า/สกลนคร 0819541528
Discussion about this post