
วันที่ 6 มิ.ย.2566 นายเหมย บุญทา อายุ 71 ปี พร้อมด้วย นายชัยศักดิ์ คนชม (ทนายหลี) และชาวบ้านทรายมูล หมู่ที่ 8,บ้านศิริราษฎร์ หมู่ 14 และ บ้านท่าหลุก หมู่ 16 ตำบลแม่ยาว อ.เมืองเชียงราย จำนวน 30 คน รวมกว่า 16 ครอบครัว ได้เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดเชียงราย เพื่อขอยื่นหนังสือกับ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หลังจากต้องถูกดำเนินคดีรุกที่ สปก. ในเขตพื้นที่ทั้ง 3 หมู่บ้าน โดยเรียกร้องขอให้ทางจังหวัดช่วยประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระงับการดำเนินคดีกับเกษตรกรที่ทำกินบนที่ดินเลขที่ 6 สปก.พื้นที่ ต.แม่ยาว โดยชาวบ้านซึ่งเป็นเกษตรกรต่างพร้อมใจถือป้ายเขียนข้อความที่ระบายความอัดอั้นตันใจ อาทิ “ร้องขอความเป็นธรรมที่ดินทำกินในเขต สปก. ชาวบ้านเดือดร้อนมาก ขอความเป็นธรรมที่ดินทำกินเขต สปก.ทำกินมา 20 ปี ถูกแจ้งข้อหารุกที่ (สปก.)”
เวลาต่อมา นายลิขิต มีเสรี ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงราย ได้เป็นตัวแทนท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในการรับหนังสือร้องเรียนพร้อมกับเชิญตัวแทนชาวบ้านจำนวน 6 ท่าน เข้าหารือและรับฟังปัญหาโดยตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า พวกตนนั้นได้ทำกินในพื้นที่ดังกล่าวก่อนปี พ.ศ.2533 โดยก่อนที่จะมีการประกาศ เป็นพื้นที่ สปก.ต่อมาในปี 2546 ได้มีนายทุนร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนได้มาทำการขับไล่พร้อมทำลายทรัพย์สินชาวบ้านและผลักดันให้ชาวบ้านออกจากบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ชาวบ้านที่เดือดร้อนจึงได้ร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไข จนกระทั่ง พ.ศ.2559 คณะ คสช.ได้เข้ามาบริหารประเทศ ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจึงร้องเรียนไปยังหัวหน้า คณะ คสช. แล้วคณะ คสช.จึงได้แก้ปัญหาดำเนินการสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำการยึดพื้นที่ของนายทุน 309 ไร่ และชาวบ้านอีก 200 ไร่ ตามคำสั่ง คสช.ที่ 36/59 แต่ได้ระบุไว้ว่าให้จัดสรรให้เกษตรกรที่ได้ทำกินในที่ดินเดิมตามข้อ 9(2) ส่วนที่ดินส่วนที่เหลือจากการจัดสรรให้เกษตรกรเดิม ให้นำไปจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ยากไร้ ทำให้พื้นที่ สปก.ที่จะจัดสรรให้ชาวบ้านที่ยากไร้จริงๆ 300 ไร่ ซึ่งหลังจาก คสช.ได้ดำเนินการแต่พบว่า สปก.ยังไม่ได้ดำเนินการตามคำสั่งของ คสช.แต่อย่างไร ทำให้ชาวบ้านและเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนไปยื่นหนังสือร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐไปยัง ปปช.จ.เชียงราย พร้อมขอร้องความเป็นธรรมไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ กทม. รวมถึง มูลนิธิภูบดินทร์ในพระราชูปถัมภ์ เรื่องต่างๆ เหล่านี้อยู่ในระหว่างการพิจารณา
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 สปก.เชียงราย ได้แจ้งข้อกล่าวว่าหาชาวบ้านที่ได้ทำกินในพื้นที่ สปก.เดิม ว่าทำการรุกที่ สปก. ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการบุกรุกตามคำสั่ง คสช.ที่กล่าวมา ที่มาในวันนี้เพื่อร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้โปรดระงับการดำเนินคดีชั่วคราวของ สปก.จ.เชียงราย รอจนกว่าหน่วยงานต่างๆ ที่เกษตรกรได้ร้องเรียนแจ้งผลกลับมา
ทางด้าน พ่อเหมย บุญทา 71 ปี บ้านท่าหลุก หมู่ 16 ต.แม่ยาว ตัวแทนเกษตรกร กล่าวว่า ที่เดินทางมาวันนี้เพื่อยื่นหนังสือกับศูนย์ดำรงธรรม หลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีรุกที่ สปก.ทั้งที่ตนเองทำกินในพื้นที่ดังกล่าวก่อนประกาศเป็นเขต สปก.ทำไมไม่ไปจัดการกลุ่มนายทุนที่ยึดครองที่ 309 ไร่ ไปทำการจัดสรรขายต่อแต่กลับมาดำเนินคดีกับชาวบ้าน
ด้านนายชัยศักดิ์ คนชม (ทนายหลี) กล่าวว่า คดีที่ สปก.เชียงรายแจ้งเอาผิดกลุ่มเกษตรกร 16 ราย ไว้ที่ สภ.แม่ยาว จะมีการทยอยเรียกเกษตรกรเป็นรายๆ ไป โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไปจนกว่าจะครบ ซึ่งไม่รู้กำหนดเวลา ซึ่งหลังจากยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย แล้ว หากยังไม่เป็นผลจะเร่งดำเนินการติดตามผลที่เกษตรกรได้ยื่นไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดผลต่อคดีต่อไป
ทั้งนี้ นายลิขิต มีเสรี ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ตามที่ชาวบ้านใน 3 หมู่บ้านเดินทางมาพบตนนั้นเพื่อระงับการดำเนินคดีกับเกษตรกรที่ทำกินอยู่ในเขตพื้นที่ สปก.509 ไร่ ในพื้นที่ตำบลแม่ยาว เดิมทีพื้นที่ตรงนี้อยู่ระหว่างรอเจ้าหน้าที่ สปก.ดำเนินการจัดสรรให้เกษตรกรเพื่อทำกินแต่ด้วยเป็นพื้นที่ที่เป็นพื้นที่จำนวนมากจึงทำให้ล่าช้า เพราะต้องสำรวจข้อมูลให้ชัดเจนเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน ส่วนกรรณีที่เกษตรกรมายื่นหนังสือหลังจากรับจะเร่งดำเนินการนำเสนอต่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมเร่งส่งข้อมูลทั้งหมดให้ สปก.เชียงราย เร่งทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ และรายงานมายังผู้ว่าราชการและศูนย์ดำรงธรรมภายใน 30 วัน ส่วนรูปคดีก็คงต้องให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย.
Discussion about this post