วันที่ 8 กรกฎาคม 2566 เวลา 07.30 น.ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง เทศบาลเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒน ธรรม พร้อมด้วย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒน ธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นางแสงมณีจรรณ์ เพชรสังหาร ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครพนม ผู้แทนรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ วัฒนธรรมจังหวัดนครพนม บึงกาฬ มุกดาหาร หนองคาย และจังหวัดอุดรธานี ตลอดจนคณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวงวัฒน ธรรม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และพุทธศาสนิกชน ร่วมกันทำบุญตักบาตรคณะพระสงฆ์ และรับฟังพระธรรมเทศนาจากพระครูกิตติสุตานุยุต เจ้าคณะอำเภอเมืองนครพนม เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ กับกิจกรรมครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน ภายใต้แนวคิด สวมผ้าไทย ห่มสไบ ใส่บาตรริมโขง ที่กระทรวงวัฒน ธรรม โดยกรมการศาสนา ได้มีการขับเคลื่อนนโยบาย “นำธรรมะสู่ใจประชาชน” เพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าวัดทำบุญเป็นประจำ ทั้งในวันพระ และวันธรรมดาเพิ่มมากขึ้น
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กิจกรรมสวมผ้าไทย ห่มสไบ ใส่บาตรริมโขง ที่จัดขึ้นในครั้งนี้เป็นการบูรณาการงานร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม บึงกาฬ มุกดาหาร หนองคาย และอุดรธานี ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เป็นการยกระดับกิจกรรมส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสตักบาตร สะสมเสบียงบุญ นอกเหนือจากวันธรรมสวนะ โดยในโอกาสนี้ได้มีการเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนที่มาร่วมกิจกรรมได้อนุรักษ์ประเพณีการตักบาตรเหมือนสมัยก่อน ที่ทุกคนจะสวมผ้าไทย ห่มสไบไปตักบาตรในยามเช้า ถือเป็นการชูอัตลักษณ์วิถีถิ่น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้คนในชุมชนและเกิดการท่องเที่ยวเชิงวิถีธรรม อีกทั้งส่งเสริมให้ทุกคนได้หันมาใส่ใจในสุขภาพของพระสงฆ์ ด้วยการถวายภัตตาหารที่เป็นเมนูสุขภาพ เพราะในปัจจุบันพบว่ามีพระสงฆ์อาพาธจากโรคต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวันนี้กรมการศาสนา โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม บึงกาฬ มุกดา หาร และจังหวัดหนองคาย ได้ร่วมกันออกบูธจัดแสดงชุดตักบาตรตามวิถีถิ่นที่เป็นเมนูสุขภาพห่างไกลจากโรคมาให้ทุกคนได้ศึกษา เรียนรู้และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันก็ยังได้ดำเนินการส่งเสริม Soft Power ของกระทรวงวัฒนธรรมในมิติศาสนา ที่นอกจากผู้ที่มาทำบุญและนักท่องเที่ยวจะรู้สึกอิ่มบุญแล้ว ยังอิ่มเอมใจกับการได้เที่ยวชมและอุดหนุนผลิตภัณฑ์วัฒน ธรรมที่ชาวบ้านในชุมชนละแวกใกล้เคียงนำมาจัดจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น ผักผลไม้ปลอดสาร อาหาร เสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์ทางภูมิ ปัญญาท้องถิ่นของชุมชน เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เกิดกระแสเงินหมุนเวียน และก่อให้เกิดรายได้ในครัวเรือน ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งหลายจังหวัดในประเทศไทย ยังมีกิจกรรมทำบุญตักบาตรวันพระที่มีความโดดเด่น และกรมการศาสนาได้พยายามขยายผลและต่อยอดโครงการด้วยการเปิดจุดเช็คอินเสบียงบุญ ไหว้พระตักบาตร 10 แห่ง ซึ่งล้วนเป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมจากพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยว ทั้งสะท้อนความศรัทธาและความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น จึงขอเชิญชวนทุกท่าน ได้มาร่วมสืบสานวิถีพุทธ ด้วยกานพาครอบครัวหิ้วตะกร้า ทำบุญตักบาตร ไหว้พระเสริมสิริมงคล พร้อมเรียนรู้วัฒน ธรรมและวิถีชีวิตของคนในชุมชน ผ่านกิจกรรมดีๆในครั้งนี้ไปด้วยกัน
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ครม. ได้เห็นชอบให้นาค เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประ เภทสัตว์ในตำนาน ซึ่งเป็นการประกาศในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสร้างให้เกิดการเรียนรู้ประวัติ ศาสตร์ เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ ที่เป็นการนำ Soft Power ทุนทางวัฒนธรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้เข้าประเทศ ดังนั้นกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรม เส้นทางความเชื่อความศรัทธาแห่งลุ่มแม่น้ำโขงขึ้น โดยเป็นการบูรณาการงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการนำอัตลักษณ์และวิถีชีวิตท้องถิ่นของคนลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับพญานาค มาเป็น Soft Power ดึงดูดนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ ผ่านเส้นทางการท่องเที่ยวที่เรียกว่าตามรอยพญานาค ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวในมิติทางศาสนาและมิติทางวัฒน ธรรมเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องราว ตำนาน ความเชื่อ ความศรัท ธาในบวรพระพุทธศาสนา วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับพญานาคที่มีความคล้ายคลึงกัน ใน 5 จังหวัดภาคอีสาน คือ จังหวัดนครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ หนองคาย และจังหวัดอุดรธานี เพื่อสร้างกระแสการรับรู้ กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเกิดความสนใจและเดินทางมาท่องเที่ยวตามรอยเส้นทางความเชื่อความศรัทธาแห่งลุ่มแม่น้ำโขงนี้ โดยเส้นทางดังกล่าวจะเริ่มต้นตั้งแต่ทางทิศเหนือของแม่น้ำโขง วัดโพธิ์ชัย พระธาตุหล้าหนอง พระธาตุบังพวน จังหวัดหนองคาย เรื่อยลงมาที่จังหวัดอุดรธานี วังนาคินทร์ คำชะโนด จังหวัดบึงกาฬ ถ้ำนาคา เจ้าปู่อือลือนาคราช จังหวัดนคร พนม วัดมหาธาตุ ลานพญาศรีสัตตนาคราช วัดพระธาตุพนม และจังหวัดมุกดาหาร ลานพญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช พญาอนันต นาคราช วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นการต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ยกระดับอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักแก่นานาชาติ นำมาสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากจากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ผ่านการท่องเที่ยวที่ควบคู่ไปกับส่งเสริมให้วัดและศาสนสถาน เป็นแหล่งเรียนรู้คู่คุณธรรมที่มีคุณ ภาพ มีการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่และผู้ที่เกี่ยวข้องรองรับสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติ ศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม ที่สอดคล้องกับบริบทความต้องการของประชาชนและนักท่องเที่ยวผู้มารับบริการ โดยเฉพาะศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะและเรียนรู้ด้านศาสนา สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่
โดยวันนี้ 8 กรกฎาคม 2566 ได้มาเปิดกิจกรรมตามรอยพญานาคที่จังหวัดนครพนม พร้อมกับนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระ ทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นางแสงมณีจรรณ์ เพชรสังหาร ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครพนม ผู้แทนรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่า การด้านการตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ และประชาชนในพื้นที่ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทุกท่านได้มาลองสัมผัสกับกลิ่นอาย มนต์เสน่ห์ของคนลุ่มแม่น้ำโขงกับความเชื่อเรื่อง “พญานาค” ที่เมื่อได้เห็นและเรียนรู้รับรองว่าต้องตื่นตาตื่นใจอย่างแน่นอน.
Discussion about this post