หนุ่มโรงงานเบื่อแสงสีเมืองหลวงหนีกลับบ้าน เก็บหน่อดาหลาที่ชาวบ้านปลูกทิ้งไว้ข้างบ้านมาฟื้นฟูขยายที่ปลูกประสบความสำเร็จมีรายได้ปีละหลายแสนบาท
ดาหลาเป็นพืชมหัศจรรย์อีกชนิหนึ่งที่เกษตรกรชาวสวนเริ่มนิยมนำมาปลูกเป็นพืชร่วมยาง และสร้างรายได้แก่เกษตรตลอดทั้งปี ด้วยที่ดาหลาเป็นพืชที่มีประโยชน์ทั้งดอก หน่อและเมล็ด สามารถนำส่วนดอกของดาหลาไปจัดเป็นดอกไม้ประดับ ใช้แปรรูปเป็นน้ำดื่มเพื่อสุขภาพ กลีบดอกใช้เป็นส่วนผสมอาหารประเภทข้ายำ เมล็ดใช้เป็นยารักษาโรคและขยายพันธุ์จำหน่ายต้นกล้าดาหลา ส่วนหน่อของดาหลานั้น นอกจากจะขุดหน่อขายแบ่งปันให้กับผู้สนใจปลูกดาหลาแล้ว หน่อดาลาก็สามารถตัดมาปอกเนื้ออ่อนข้างใน ให้เป็นผักแกงเป็นอาหารได้ส่วนและดาหลาที่ปลูกในสวนยางยังช่วยให้พื้นที่สวนมีความชื้น เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินในสวนยางโดยไม่ต้องให้ปุ๋ยและสารเคมีแต่อย่างใด

นายสหจร ชุมคช ประธานเครือข่ายโรงเรียนโคนยางจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า เครือข่ายโรงเรียนโคนยางจังหวัดพัทลุง เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มาจากหลากหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น เขา ป่า นา เล ประกอบอาชีพตามวิถีของแต่ละชุมชน โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนโซนป่า เขา ตลอดแนวเทือกเขาบรรทัด มีการรณรงค์ให้เกษตรกรปลูกพืชร่วมยาง เพื่อสร้างรายได้เสริมแก่ครอบครัว โดยเฉพาะการปลูกดาหลาและไม้อื่นๆแซมยาง เป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นการปลูกดาหลา เพื่อขายดอก ขายหน่อ เมล็ดและแปรรูปส่วนดอก และหน่อของดาหลาเป็นเครื่องดื่ม เพื่อสุขภาพและจัดเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู
นายสหจร ชุมคช กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเกษตรกรชาวสวนยางในจังหวัดพัทลุงหันมาปลูกดาหลาร่วมยางแล้วประมาณ 100 ไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลลำสินธุ์ อ.ศรี นครินทร์ จ.พัทลุง ประมาณ 40 ไร่ และเตรียมปลูกเพิ่มพื้นที่มากขึ้น และที่สวนปันแสง เป็นสวนปลูกดาหลาแปลงใหญ่ มีปลูกดาหลาที่ให้ดอกแล้วประมาณ 30 ไร่ จากที่เคยปลูกเป็นพืชแซมในสวนยาง สร้างความร่มรื่นภายในสวน และเพื่อหารายได้เสริมให้แก่ครอบครัว ปัจจุบันดาหลากลายเป็นรายได้หลัก เพราะสามารถขายได้ทั้งส่วนของดอก หน่อและเมล็ด สามารถส่งดาหลาขายได้ทั้งภายในและต่างประเทศ ราคาดอกละ 10 บาท ส่วนหน่อของดาหลาจะขุดขายตั้งแต่ราคาหน่อละ 70 – 450 บาท และจะมีรายได้ตลอดทั้งปี
สำหรับจุดเริ่มต้นลงทุนพื้นที่สวนยางพาราปลูกต้นดาหลานั้น เป็นหลักคิดที่ไม่มีทิศทางอะไร จากที่เคยทำงานอยู่ในโรงงานแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2553 มีครอบครัว ก็ชวนกันลาออกจากงานเดินทางกลับบ้าน ตั้งใจว่าจะทำสวนยางพาราและสวนผลไม้ ทั้งที่ไม่เคยทำสวนมาก่อน แต่ยังโชคดีที่ครอบครัวมีที่ดินอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านจำนวนหนึ่ง และได้เห็นต้นดาหลาที่ชาวบ้านปลูกไว้ข้างบ้านออกดอกสวยงาม และเจ้าของก็ไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เพราะเป็นช่วงที่ไม้ดอกประเภทดาหลาขาลง เจ้าของก็ไม่สนใจ อนุญาตให้ขุดหน่อไปปลูกในสวนยาง พร้อมทั้งปลูกไม้ทุกชนิดที่หยิบหามาได้ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นพืชจำพวกเอื้อง ข่า กระทือและพืชสมุนไพรต่างๆ รวมทั้งไม้ท้องถิ่น ใช้เวลาปลูกต่อเนื่องนาน 13 ปี พื้นที่สวนยาง กลายเป็นสวนป่า แซมด้วยต้นดาหลาที่ให้ดอกสีสวยแปลกตามากกว่า 40 สี และมีพืชชนิดอื่นผสมปนเปกันไป
ส่วนการขยายพันธุ์และผสมสีดอกดาหลานั้น เริ่มแรกได้ปล่อยดาหลาออกดอกโดยธรรมชาติ แต่ก็โชคดีที่สวนยางพาราแปรงที่ปลูกดาหลาตั้งอยู่ริมป่า เมื่อดาหลาออกดอกก็มีพวกแมลง ผีเสื้อ และสัตว์อื่นๆโดยเฉพาะนกปลีกล้วย นกกินปลีที่อาศัยอยู่ในสวนดาหลาประมาณ 5 ชนิด นกก็ใช้ปากที่เรียวยาวเจาะดูดน้ำหวานในดอกดาหลา และหากินวนไปทั้งวัน นกได้นำเกสรดอกดาหลาติดไปกับปากและเมื่อไปดูดน้ำหวานดอกอื่นที่มีสีต่างกัน เมื่อดาหลาออกมาเป็นเมล็ดที่นกช่วยผสมให้ นำลูกดาหลาไปเพาะเมล็ดออกมาเป็นหน่อ นำไปปลูกก็พบว่ามีสีดอกดาหลาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีดาหลาอยู่ในสวนปันแสงที่ปลูกดูแลมา 13 ปี มากกว่า 40 สายพันธุ์ และปีนี้มีดาหลาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นในสวนปันแสงอีกจำนวน 3 สี .
Discussion about this post