วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ที่โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดโครงการแม่โจ้เมืองสีเขียว ครั้งที่ 2 ภายใต้โครงการเงินอุดหนุนโครงการพัฒนาระบบสุขาภิบาลในชุมชนในโครงการพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีนายประหยัด ทรงคำ นายกเทศมนตรีเมืองแม่โจ้ นายวิรัช จิโรจน์พงศา ปลัดเทศบาลเมืองแม่โจ้ พร้อมผู้บริหาร สมาชิกสภา ผู้นำชุมชน คณะกรรมการ 19 ชุมขน เข้าร่วมกว่า 300 คน โดยใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง
นายนิรัตน์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ถือเป็นการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ให้เมืองแม่โจ้เป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาดตา ไม่รกรุงรัง โดยเฉพาะการคัดแยกขยะ ที่นำกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิลได้ เพราะไม่ต้องลงทุนอะไรเลย และเพิ่มรายได้แก่ชุมชนซึ่งเทศบาล สามารถลดค่ากำจัดขยะจากปีละ 15 ล้านบาท เหลือ 10 ล้านบาท ลดลง 5 ล้านบาท นำไปใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยอาศัยองค์ความรู้ทางเกษตรและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ช่วยพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเทศบาลเมืองแม่โจ้ ถือเป็นต้นแบบ หรือโมเดลพัฒนาสิ่งแวดล้อมของเชียงใหม่ด้วย
“เชียงใหม่ เป็นเมืองท่องเที่ยว การพัฒนาสิ่งใหม่ต้องทำ สิ่งเก่าก็ไม่ละทิ้ง โดยเฉพาะความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อยภูมิทัศน์ที่สวยงาม คลองสวยน้ำใส เย็นตา ที่ผ่านมาได้สั่งเก็บป้ายโฆษณาที่รกรุงรัง เกะกะทางเท้า 25 อำเภอ รวมกว่า 100,000 ป้ายแล้ว เพราะไม่ได้ขออนุญาต ซึ่งเรื่องดังกล่าวประชาชนให้การสนับสนุน เพราะเป็นความสะอาดเรียบร้อย เป็นหน้าเป็นตาบ้านเมือง ถ้าใครฟ้อง ก็ให้ฟ้องผู้ว่าฯ และบอกว่าเป็นนโยบายจังหวัด ผู้ว่าฯ สั่งให้ทำ” นายนิรัตน์ กล่าว
นายประหยัด กล่าวว่า โครงการแม่โจ้เมืองสีเขียว ดำเนินกิจกรรมพัฒนา 19 ชุมชน ประกอบด้วย อบรมให้ความรู้จัดทำถังขยะเปียก คัดแยกขยะ ซื้อขายขยะ และจัดตั้งธนาคารขยะ เพื่อแก้ปัญหาการเผา หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5โดยนำเศษวัชพืช กิ่งไม้ ใบไม้มาทำปุ๋ยหมัก และน้ำจุลินทรีย์ เพื่อเป็นเกษตรอินทรีย์ธรรมชาติ ลดใช้สารเคมี
“กืจกรรมดังกล่าว มีผู้ร่วมกิจกรรมกว่า 1,000 คน สามารถลดปริมาณขยะ 30-40% ชุมชนจัดทำถังขยะเปียก กว่า 90 % มีรายได้จากคัดแยกขยะ รวมกว่า 300,000 บาท พร้อมผลิตปุ๋ยหมักสูตรวิศวกรรมแม่โจ้ 1 ให้กับ 19 ชุมชนๆ ละ 1,500 กิโลกรัม รวม 28,500 กิโลกรัม บรรจุกระสอบละ 5 กิโลกรัม รวม 5,700 กระสอบ จำหน่าย 35 บาท/กระสอบ หรือ 3 กระสอบ 100 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 199,500 บาทด้วย” นายประหยัด กล่าว
จากนั้นนายนิรัตน์ ได้มอบเกียรติบัตรและเงินรางวัลการประกวดปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกอง และการบริหารจัดการขยะ ระดับชุมชนและครัวเริอน พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการนำเสนอผลงานของ 19 ชุมชน ตามลำดับ ก่อนเดินทางกลับ
Discussion about this post