
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ วีรชนผู้ไม่ยอมแพ้ พระยาไชยบูรณ์ ตำบลนาจักร อำเภอเมืองแพร่จังหวัดแพร่ นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานนำคณะข้าราชการ ประชาชนทุกหมู่เหล่า ประกอบพิธีวางพวงมาลาเพื่อสดุดีวีรกรรมพระยาไชยบูรณ์ เนื่องในวันที่ระลึกสดุดีวีรกรรมพระยาไชยบูรณ์ วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 เพื่อร่วมกันรำลึกถึงคุณงามความดีของอดีตข้าหลวงเมืองแพร่ครบรอบ 121 ปีของการจากไป
นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้กล่าวสดุดีวีรกรรมพระยาไชยบูรณ์ และนำยืนสงบนิ่งไว้อาลัยเป็นเวลา 1 นาที จากนั้นได้ประกอบพิธีทางศาสนา พระสงฆ์ประกอบพิธีทักษิณานุประทาน เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่ดวงวิญญาณของพระยาไชยบูรณ์ หรือพระยาราชฤทธานนท์พหลภักดี เสร็จแล้วประกอบพิธีทอดผ้าบังสุกุล และถวายจตุปัจจัยไทยธรรม
สำหรับพระยาไชยบูรณ์ เดิมมีชื่อว่า ทองอยู่ สุวรรณบาตร์ เป็นบุตรของพระยาศรีเทศาบาลและคุณหญิงกมลจิตร เป็นชาวเมืองพิชัยจังหวัดอุตรดิตถ์ เริ่มรับราชการเมื่ออายุ 21 ปีในตำแหน่งเสมียนอำเภอพิชัย ต่อมาได้เลื่อนเป็นปลัดอำเภอ นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกและได้เลื่อนเป็นปลัดมณฑลพิษณุโลก ในปี พ.ศ. 2440 ย้ายไปเป็นข้าหลวงจังหวัดแพร่ และได้เลื่อนยศเป็นพระยาไชยบูรณ์ในปี 2443 ต่อมาในวันที่ 25 กรกฎาคม 2945 เกิดกบฎเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ โดยเข้าปล้นโรงพัก ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข และเข้าทำลายคลังหลวงและกวาดเงินสดไปทั้งหมด 37 อัฐ บุกเรือนจำเพื่อปล่อยนักโทษ และในวันที่ 27 กรกฎาคม 2445 เป็นวันที่พระยาไชยบูรณ์ต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเวทนา บริเวณที่ตั้งอนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์ในปัจจุบัน พระยาไชยบูรณ์ นับเป็นวีรบุรุษที่เป็นตัวอย่าง เป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละอย่างใหญ่หลวง ยอมสละชีวิตของตนเพื่อบ้านเมือง มีความรักชาติ กล้าหาญสมกับเป็นผู้นำโดยแท้
ไม่คิดหนีเอาชีวิตรอดแต่เพียงผู้เดียว สมควรได้รับการยกย่องสรรเสริญอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
พระราชทานยศแก่พระยาไชยบูรณ์ขึ้นเป็น
พระยาราชฤทธานนท์พหลภักดี และให้สร้างอนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์ขึ้น เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของพระยาไชยบูรณ์
ธีรพงษ์ ธงออน/แพร่
Discussion about this post