วันที่ 4 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประตูระบายน้ำท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก นายสิริพล รักษนาเวศ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน พร้อมนายชำนาญ ชูเที่ยง ผอ.ชลประทานจังหวัดพิษณุโลก ร่วมกันติดตามความก้าวหน้าโครงการประตูระบายน้ำท่านางงาม จังหวัดพิษณุโลก ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำหรับประตูระบายน้ำ (ปตร.) ท่านางงาม เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการน้ำของกรม ชลประทานในเขตจังหวัดพิษณุ โลกและพิจิตร ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลุ่มน้ำยมตอนล่าง รวม 4 แห่ง ได้แก่ ปตร.ท่านางงาม ,ปตร.ท่าแห, ปตร.วังจิก และปตร.โพธิ์ประทับ ช้าง ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 2 แสนไร่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง บรรเทาความเดือดร้อนทั้งปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการรับมือกับผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายสิริพล รักษนาเวศ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กล่าวว่า เนื่องจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าว การพัฒ นาแหล่งน้ำจึงเป็นปัจจัยหลักในการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนให้แก่เกษตรกร แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำยม ซึ่งเป็นแม่ น้ำสายหลัก มีลักษณะที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทานจึงวางแผนการก่อสร้างประตูระบายน้ำตลอดช่วงแม่น้ำยมตอนล่างรวม 4 แห่ง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง ที่มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี อีกทั้งยังช่วยชะลอน้ำในการผันน้ำเข้าแก้มลิงต่างๆ ในช่วงน้ำหลาก เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและป้องกันการกัดเซาะตลิ่งบ้านเรือนของราษฎรได้อีกด้วย หากดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำทั้ง 4 โครงการนี้แล้วเสร็จ นับเป็นอีกหนึ่งหลักชัยความสำเร็จของการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประ ทาน ซึ่งมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ โดยได้กำหนดแผนการก่อสร้างทั้ง 4 โครงการให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2568 เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์โดยเร็วที่สุด
ด้านนายชำนาญ ชูเที่ยง ผอ.ชล ประทานจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า สำหรับโครงการประตูระบายน้ำท่านางงาม ต.ท่านางงาม อ.บาง ระกำ จ.พิษณุโลก เป็นประตูระ บายน้ำอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดประตูเหล็กบานโค้งจำนวน 5 บาน สามารถเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมและลำน้ำสาขาได้ประมาณ 11.10 ล้าน ลบ.ม. ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี (ปี พ.ศ. 2562 – 2566) ครอบคลุมพื้นที่รับประ โยชน์ประมาณ 51,375 ไร่ ประชา ชนได้ประโยชน์กว่า 2,568 ครัวเรือน ปัจจุบันดำเนินการเกือบแล้วเสร็จ สามารถใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้แล้ว เหลือแต่การเก็บรายละเอียดเกี่ยวกับอาคาร สำนักงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี พ.ศ. 2566 นี้
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้วางแผนรับมือปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดความแห้งแล้งและอากาศร้อนจัดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทย โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปรากฏ การณ์เอลนีโญจะยืดเยื้อต่อเนื่องและมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นไปจนถึงกลางปี พ.ศ. 2567 ฉะนั้น เราจึงจำเป็นต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาว เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในกิจกรรมต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมกันนี้ ยังได้ให้หน่วยงานท้องถิ่น และภาคประชาชน จัดหาแหล่งเก็บกักน้ำ หรือภาชนะสำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ในครัวเรือนให้ได้มากที่สุด จนกว่าจะถึงฤดูฝนปีหน้า ที่สำคัญต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ
นายพิเดช ชูจิตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 บ้านกรุงกัก ตำบลท่านางงาม กล่าวว่า ผมอยู่แม่น้ำยมอยู่ฝั่งขวา พื้นที่หมู่บ้านอยู่ห่างจากประตูระบายน้ำท่านางงาม ประมาณ 10 กิโลเมตร เดิมไม่มีประตูน้ำตรงนี้ น้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อทำการเกษตร จะแห้งแล้งทุกปี หน้าน้ำหน้าฝนก็เกิดน้ำท่วมทุกปี ท่วมหนักมาก พอเวลาหน้าแล้งน้ำก็ไหลผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ชาวบ้านขาดแคลนน้ำเพื่อการ เกษตรและน้ำอุปโภคบริโภค ที่ผ่านมาแก้ไขปัญหาด้วยการขอทางอำเภอ นำกระสอบทรายปิดกั้นขวางแม่น้ำยมเพื่อเก็บกักน้ำไว้ ระดมชาวบ้านมาช่วยกันกั้นกระ สอบทรายเป็นประจำทุกปี แต่หลังจากมีประตูระบายน้ำท่านางงามแล้ว ก็มั่นใจว่าจะทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของน้ำเต็มที่ เพราะประชาชน ชาวบ้านจากตำบลท่านางงาม ขณะนี้ชาวบ้านเริ่มใช้ประโยชน์จากน้ำที่เก็บกักมาแล้ว 1 ฤดูการผลิต โดยนำน้ำมาใช้ในการทำการเกษตรอย่างสมบูรณ์ โดยประตูระบายน้ำแห่งนี้ จะเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนตั้งแต่อำเภอกงไกรลาศจังหวัดสุโขทัยยาวลงมาถึง อ.บางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดพิจิตร ผมรู้สึกดีใจที่กรมชลประทานก่อ สร้างประตูน้ำท่านางงาม เป็นความหวังของเกษตรกรชาวอำเภอบางระกำ ที่รอคอยการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมน้ำแล้งมานานหลายสิบปี.
ธเนส อนุดิษฐ/พิษณุโลก
Discussion about this post