
เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ของวันที่ 5 กันยายน 2566 ชาวบ้านชุมชนท้องคุ้ง ต.ท่าฉลอม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เกือบ 100 คน ได้เดินทางมารวมตัวที่ลานสาครบุรี ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกับป้ายร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือจากนายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายชุมพล จันทร์จรัสวัฒนา นายกเทศมนตรีนครสมุทรสาคร และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทร สาคร กรณีที่ชาวบ้านชุมชนท้อง คุ้งกว่า 100 หลังคาเรือน มีประชา กรอาศัยอยู่เกือบ 1,000 คน กำลังถูกเจ้าของที่ดิน (รายใหม่) ซึ่งได้ประมูลที่ดินผืนนี้มาจากกรมบังคับคดี แล้วมาฟ้องขับไล่ให้ชาวบ้านออกจากที่ดินที่อาศัยอยู่กันมานานกว่า 100 ปี โดยในการนี้ก็ได้มีการยื่นหนังสือร้องเรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด มีนายสยาม อินทรสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสาคร เป็นผู้รับหนังสือจากตัวแทนชาวบ้าน
ขณะที่นายชุมพล จันทร์จรัสวัฒนา นายกเทศมนตรีนครสมุทร สาคร ก็ได้เดินทางมาพบกับชาวบ้านพร้อมกับรับหนังสือร้องเรียนในเรื่องเดียวกัน ซึ่งได้ระบุไว้ว่า “พวกเราประชาชนชาวชุมชนท้อง คุ้ง ต.ท่าฉลอม อ.เมืองฯ จ.สมุทร สาคร ขอยื่นคำร้องเรียนร้องทุกข์และขอความช่วยเหลือจากท่าน เนื่องจากพวกเรากำลังถูกขับไล่ รื้อถอน ที่อยู่อาศัย และเรียกค่าเสียหาย จากที่ดินที่พวกเราอยู่อาศัยกันอยู่มานานกว่า 100 ปี ตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ทวด จนถึงรุ่งปัจจุบัน อยู่จนเกิดเป็นชุมชนบ้านท้องคุ้ง เป็น 1 ในชุมชนสุขาภิบาลแห่งแรกของประเทศไทย (รัชกาลที่ 5) ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะตำบลท่าฉลอม เป็นสุขาภิบาลแห่งแรกของประเทศ ไทย เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2448 (ร.ศ.124) ถือว่าเป็นต้นกำเนิดการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจากการขายทอดตลาด โฉนดเลขที่ 3803 เลขที่ดิน 5 ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทร สาคร จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 19 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา มีข้อ ความปรากฏว่า “โดยไม่มีสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน” ซึ่งขัดกับสภาพความที่เป็นจริง ที่มีสิ่งปลูกสร้าง ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ครอบครองติดต่อกันเป็นระยะมากว่า 100 ปี และไม่มีเจ้าของออกมายืนยันสิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดิน ไม่มีการเข้ามาพูดคุย ในส่วนการประมูลซื้อที่ดินดังกล่าวได้ในราคา 13,990,000 บาท ต่ำกว่าราคาประเมิน ในส่วนของการขายทอดตลาดของธนาคาร จะต้องมีประกาศมาติดบริเวณที่จะขายทอดตลาด แต่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เห็น ไม่รู้เรื่องแต่อย่างไร จนกระทั่งมีหมายเรียก คดีหมายเลขดำที่ ม162/2566 จากศาลจังหวัดสมุทรสาคร ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 นัดให้นาง
วิสา คุ่ยเสงี่ยม อายุ 63 ปี นายจรินทร์ คุ่ยเสงี่ยม อายุ 84 ปี น.ส. มาลี ศรีดาวเรือง อายุ 48 ปี นางนารีรัตน์ นามีผล อายุ 60 ปี นายชวรรณ์ รัตนพุทธาสาคร อายุ 81 ปี ให้ไปศาลเพื่อการไกล่เกลี่ย ในวันที่ 5 กันยายน 2566 เวลา 09.00 น. และให้การแก้ข้อหาแห่งคดี และนัดสืบพยายานในวันที่ 18 กันยายน 2566 เวลา 13.30 น. นั้น จึงขอความช่วยเหลือจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทร สาคร และ นายกเทศมนตรีนครสมุทร สาคร ในการให้หน่วยงานที่มีความรู้ ความชำนาญ ด้านกฎหมายที่ดิน ที่อยู่อาศัย การขายทอดตลาด เข้ามาช่วยเหลือ และให้ความรู้แก่ประชาชน/ชาวบ้านชาวชุมชนท้องคุ้ง เพื่อจะได้มีความรู้ มีที่ปรึกษาด้านกฎหมายดังกล่าว เนื่องจาก ชุมชนท้องคุ้งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง อาทิ ทำปลา ตัดหัวปลา หาเช้ากินค่ำ ออกเรือประมง ค้าขาย เป็น ต้น ไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย มาช่วยเหลือชาวบ้านชุมชนท้องคุ้ง อีกทางหนึ่ง หรือหากชุมชนท้อง คุ้ง ตำบลท่าฉลอม ที่ประชาชนอาศัยอยู่กันมากว่า 100 ปี กว่า 100 หลังคาเรือน ประชาชนเกือบ 1,000 คน อาจถูกขับไล่ รื้อถอน ที่อยู่อาศัย และเรียกค่าเสียหาย ก็ขอให้ท่านหาทางออกพูดคุยกันระหว่างคู่กรณี หรือหาทางช่วยเหลือที่พอจะเป็นไปได้ ต่อไป”
นายชวรรณ์ รัตนพุทธาสาคร คุณตาวัยอายุ 81 ปี เล่าว่า ตาเป็น 1 ใน 6 คนแรก ที่ถูกหมายนัดศาลจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเข้าสู่กระ บวนการไกล่เกลี่ย โดยเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ( 5 ก.ย.) ตาพร้อมผู้ที่ถูกฟ้องร้องรวม 6 คน ได้ไปที่ศาลมาแล้ว สำหรับที่ดินตรงนี้ตาอยู่มาตั้งแต่เกิด จึงไม่คิดว่าจะมาถูกขับไล่ที่เช่นนี้ เพราะที่ผ่านมาก็อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข จนกระทั่งมีคนมายื่นฟ้องขับไล่ที่ ทำให้ตาและชาวบ้านเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เพราะไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหนกัน ดังนั้นจึงต้องการให้ภาครัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือชาวบ้านตาดำๆ ที่หาเช้ากินค่ำ และอยู่ที่นี่กันมายาวนานกว่า 100 ปีแล้ว
ขณะที่ชาวบ้านอีกหลายรายก็บอกว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ ชาวบ้านอยู่อาศัยกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ไม่เคยมีใครมาแสดงตนเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งชาวบ้านก็ได้อยู่อาศัยกันเรื่อยมา และชาวบ้านบางคนก็ยังมีเอกสารแสดงถือครองที่ดินด้วย แต่เมื่อไม่นานมานี้กลับมีหมายนัดจากศาลจึงหวัดสมุทรสาคร ให้ผู้ที่อยู่อาศัย 6 รายแรก ไปไกล่เกลี่ยที่ศาลจังหวัดสมุทรสาคร เพราะถูกเจ้าของที่ดินซึ่งครอบครองโดยการประมูลมาจากกรมบังคับคดีนั้น ฟ้องขับไล่ที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังจะมีการฟ้องขับไล่ที่ผู้อยู่อาศัยรายอื่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ อีกด้วย ทั้งนี้ชาวบ้านจึงต้องการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่สุด เพื่อบรรเทาความทุกข์ใจและความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านกว่า 100 ครัวเรือน เพราะชาวบ้านเองไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน
ส่วนกรณีของผู้อยู่อาศัย 6 ราย ที่ไปไกล่เกลี่ยในชั้นศาลวันนี้ เป็นการพบกันระหว่างทนายของฝ่ายโจทก์ กับ ผู้ถูกฟ้องร้อง ซึ่งทางฝ่ายโจทก์ได้ยื่นข้อเสนอมาให้ 2 แนวทางคือ ย้ายออกจากพื้นที่โดยยินยอมรับค่ารื้อถอน หรือ ยินยอมซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ดินรายปัจจุบัน แต่ทั้งสองแนว ทางนี้ ชาวบ้านยังมองว่าไม่เป็นธรรมแก่ผู้ที่เดือดร้อน จึงต้องการให้มีแนวทางการไกล่เกลี่ย หรือสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายมากกว่านี้ เพราะชาวบ้านที่นี่ก็อยู่กันมานานกว่า 100 ปีแล้ว อีกทั้งยังจะขอเลื่อนนัดศาลจากวันที่ 18 กันยายน ไปเป็นวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทุกคนทุกครัวเรือนก่อนจะชี้แจงต่อศาล
ด้านนายสยาม อินทรสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า หลังจากที่รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านชุมชนท้องคุ้งแล้ว ก็จะรีบประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อหาแนวทางให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ชาวบ้านต่อไปอย่างเร่งด่วนที่สุด
ส่วนนายชุมพล จันทร์จรัสวัฒนา นายกเทศมนตรีนครสมุทรสาคร บอกว่า วันนี้ตามที่ตัวแทนชาวบ้านท้องคุ้งได้มารวมตัวกันยื่นหนังสือร้องเรียนนั้น ทางเทศบาลฯ พร้อมที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่ ที่พึงกระทำได้อย่างเร่งด่วนที่สุด ซึ่งเบื้องต้นนี้ ขอให้ชาวบ้านที่เหลือนั้น ลงชื่อและแนวเขตที่อยู่อาศัยให้ชัดเจนเพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลดำเนินการขั้นต่อไป ส่วนผู้ที่อยู่อาศัยแล้วยืนยันว่ามีโฉนดหรือหลักฐานแสดงการครอบครองที่ดินนั้น จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ฯ ลงไปทำการรังวัดเพื่อให้ได้เขตครอบครองที่ชัดเจน แต่ในด้านของผู้ที่ขึ้นสู่กระบวนการของศาลแล้วนั้น จะต้องเป็นอำนาจของศาล ที่ทุกฝ่ายไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายใดๆ ได้ จนกว่ากระบวนการจะถึงที่สุด.
ณัฐวุฒิ เอกจิโรภาส / สมุทรสาคร
Discussion about this post