
โพนเป็นเครื่องตีประโคมเสียงอีกชนิดหนึ่ง ที่มีรูปร่างคล้ายๆกัลป์กลองทั่วๆไป ตั้งแต่อดีตชาวบ้านร่วมกับวัดในชุมชน ช่วยกันหาท่อนไม้เนื้อแข็ง มาเจาะขึ้นรูปและใช้หนังควายหุ้มทั้งสองด้าน นำโพนที่สร้างขึ้นไปเก็บไว้ที่วัดเพื่อใช้ตีบอกเวลาและตีส่งสัญญาณเตือนชาวบ้านเมื่อเกิดภัยในพื้นที่ และทางวัดก็ยังได้ใช้โพนจำนวน 2 ลูก ที่สร้างไว้ในวัด เป็นเครื่อง ตีประโคมเสียงในวันชักพระช่วงเทศกาลวันออกพรรษามาตั้งแต่อดีต
ปัจจุบันการใช้โพนตีในพิธีต่างๆก็ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดพัทลุง เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าจังหวัดพัทลุงเป็นพื้นที่อนุรักษ์และเป็นแหล่งผลิตโพนส่งขายให้กับชาวบ้านที่สนใจทั่วประเทศ ซื้อไปถวายวัด เพื่อเก็บไว้ใช้ตีในพิธีต่างๆ แม้ว่าปัจจุบันจะมีการจัดหาระฆังนำมาตีแทนโพนในวัด แต่โพนก็ยังมีความสำคัญที่ชาวบ้านและวัดในภาคใต้ยังจะต้องจัดหามาเก็บรักษาไว้ให้อยู่คู่วัด เพื่อนำขึ้นเรือพระใช้ลากในวันออกพรรษาของทุกปี
สำหรับการสร้างโพนหรือหุ้มโพนที่วัดเคยร่วมกับชาวบ้านจัดสร้างขึ้นมานั้น ปัจจุบันมีการพัฒนานำไปสู่การสร้างโพนเพื่อการค้า ชาวบ้านได้ลงทุนสร้างค่ายโพนและสร้างโพนส่งขายไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดพัทลุง มีค่ายโพนประมาณ 35 ค่าย และมีโพนอยู่ในการครอบครองประ มาณ 800 ลูก ช่วงเดือนกันยายนของทุกปี จังหวัดพัทลุง โดยองค์ การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)พัท ลุง ร่วมกับท้องถิ่นต่างๆ จัดให้มีการแข่งโพนประเภทเสียงดังรอบคัดเลือก จำนวน 4 สนาม และปีนี้เริ่มมาตั้งแต่สนามแข่งโพนเทศบาลตำบลเขาเจียก อ.เมืองพัทลุง สนามองค์การบริหารส่วนตำบลตะแพน อ.ศรีบรรพต สนามองค์การบริหารส่วนตำบลปันแต อ.ควนขนุน และสนามเทศบาลตำบลปรางหมู่ อ.เมืองพัทลุง มีการแข่งโพนเยาวชน โพนขนาดเล็ก โพนขนาดกลางและโพนขนาดใหญ่ มีวัดและค่ายโพนต่างๆส่งโพนเข้าแข่งรองคัดเลือกประมาณ 500 ลูก
และรอบชิงชนะเลิศ อบจ.พัทลุง จัดแข่งโพนชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม ณ สนามหน้าสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง มีโพนที่ชนะผ่านรองคัดเลือกทั่วจังหวัดพัทลุง มีทั้งโพนระดับเยาวชน โพนขนาดเล็ก โพนขนาดกลางและโพนขนาดใหญ่จำนวน 128 ลูก เข้ามาแข่งในงานแข่งโพนลากพระ โพนที่ชนะเลิศแต่ละรุ่นจะได้รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้ง 4 รุ่น
นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า งานประเพณีแข่งโพนลากพระจังหวัดพัทลุง เป็นงานประเพณีที่สำคัญของจังหวัดพัทลุง และจัดจัดขึ้นยิ่งใหญ่และมีการแข่งโพนรางวัลถ้วยพระราชทานฯต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 และปีนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ร่วมกับเทศบาลตำบลเขาเจียก เทศบาลตำบลปรางหมู่ อ.เมืองพัทลุง องค์การบริหารส่วนตำบลตะแพน อ.ศรีบรรพต องค์การบริหารส่วรตำบลปันแต อ.ควนขนุน ร่วมจัดแข่งโพนรอบคัดเลือกและระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม ซึ่งตรงกับเทศกาลวันออกพรรษา อบจ.พัทลุง จัดให้มีงานแข่งโพนรอบสุดท้าย ประเภทโพนเสียงดังตั้งแต่โพนเยาวชน โพนขนาดเล็ก โพนขนาดกลางและโพนขนาดใหญ่ ผ่านการแข่งชนะรอบคัดเลือกเข้าแข่งรอบชิงจำนวน 128 ลูก ผู้ที่ชนะเลิศทั้ง 4 รุ่น จะได้รับถ้วยรางวัลพระราช ทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัลอีกจำนวนหนึ่ง
สำหรับงานแข่งโพนลากพระชงถ้วยพระราชทานฯที่จังหวัดพัทลุงจัดเป็นงานใหญ่ประจำปีนั้น นอก จากจะมีการแข่งโพนที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ความสนใจแล้วช่วงวันเวลาดังกล่าวก็ยังมีงานประเพณีลากพระวันออกพรรษาที่ อบจ.พัทลุงจัดเป็นงานใหญ่ มีเรือพระจากวัดต่างๆลากเรือพระออกจากมารวมกันที่ลานหน้าพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒนจตุระทิศ มากกว่า 40 วัด และมีพิธีสมโภชเรือพระเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน มีกิจกรรมอื่นๆอีกจำนวนมาก ตั้งแต่การประกวดเรือพระแบบโบราณ แบบประยุค การแข่งขันกีฬาซัดต้ม การแสดงหนังตำลุงและรำมโนราห์แบบโบราณ ประกวดธิดาโพน และการแสดงของนักเรียนนิสิตนักศึกษา ที่เป็นลูกหลานของชาวจังหวัดพัทลุง
ทางด้านนายสมมิตร เจริญผล ผู้เชี่ยวชาญงานโพน กล่าวว่า การแข่งโพนรอบคัดเลือกทั้ง 4 สนามในปีนี้ มีชาวบ้าน วัดและค่ายโพนต่างๆให้ความสนใจ ส่งโพนเข้าแข่งรอบคัดเลือกเป็ฯจำนวนมาก ทางคณะกรรมการจัดการแข่งโพนนำโพนที่ชนะเลิศ รองชนะเลิศแต่ละสนามมาแข่งรองชิง จึงจะเห็นว่างานแข่งโพนรอบชิงรางวัลถ้วยพระราชทานฯ จะเป็นโพนที่เสียงดังและผู้ตีแต่ละคนก็มีเทคนิคในการตี มีพลังที่แข็งแรง โพนทุกใบที่เข้าแข่งรอบชิงชนะเลิศไม่ว่าจะเป็นโพนวัดหรือโพนค่าย นอกจากจะเข้าร่วมกิจกรรมอนุรักษ์ประเพณีการแข่งโพนให้อยู่คู่พัทลุงตลอดไปแล้ว ทุกคนก็ซ้อมมาเป็นอย่างดี เพื่อชนะรับรางวัลถ้วยพระราชทานฯ เพื่อเป็นเกียรติประวัติของค่ายโพนด้วย.
Discussion about this post