เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 20 กันยา ยน 2566 ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง จ.อุดรธานี ได้ทำการลดระดับประตูระบายน้ำ ของอ่างฯห้วยหลวงทั้ง 3 บาน ลงจากเคยเปิดสูงสุด 1.50 ม. และลดลงมาต่อเนื่อง เมื่อน้ำไหลเข้าอ่างฯลดลง มาเปิดเพียง 0.20 ม.เท่านั้น หรือระบายน้ำออกมารวมวันละ 2.2 ล้าน ลบม. ซึ่งน้ำได้ไหลลงลำน้ำห้วยหลวง มารวมกับลำห้วยเชียง , ลำห้วยลี และลำ ห้วยทราย ก่อนถึงประตูระบายน้ำบ้านหัวขัว อ.กุดจับ ก็ได้ลดระดับประตูน้ำทั้ง 3 บานลง จาก 5 เมตรลงมาเหลือ 2.0 เมตร หรือระบายผ่านไปรวม 4.5 ล้าน ลบม. โดยมีแผนลดประตูน้ำลงครั้งละ 50 ซม. เพื่อลดความเสียหายจากตลิ่งทรุดตัว
จากปริมาณน้ำที่พร่องจากอ่างฯห้วยหลวงลดลง น้ำที่ไหลล้นตลิ่งลำน้ำห้วยหลวง เข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ฟาร์ม บ้านเรือน และถนน ในพื้นที่ ต.เมืองเพีย ต.เชียงเพ็ง อ.กุดจับ และ ต.เชียงยืน อ.เมืองอุดรธานี ระดับน้ำก็ลดลงเกือบทั้งหมด เหลือเพียงบ้านเรือนในที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำที่ลดลงได้เห็นความเสียหายของ “นาข้าว” บริเวณช่วงต่อของ บ.ข่า ต.เมืองเพีย อ.กุดจับ กับ บ.ป่อง ม.7 ต.เชียงยืน อ.เมือง ได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง โดยมีบางแปลงข้าวที่ตั้งท้อง “เน่าส่งกลิ่นเหม็น”

นางบุญธรรม ติใจ อายุ 57 ปี ชาวนาบ้านป่อง นำผู้สื่อข่าวไปดูนาข้าวที่เสียหาย มีสภาพน้ำสีดำ โคนต้นเน่า ส่งกลิ่นเหม็น ระบุว่า นาข้าว 2 แปลงๆละ 5 ไร่ อยู่ไม่ไกลจากลำห้วยหลวง ในจุดที่มีน้ำจากห้วยยางไหลลง น้ำที่ไหลมามีสีคลำผิดปกติ เมื่อถูกน้ำท่วมเพียง 4 วัน ซึ่งปกติข้าวจะยังไม่ตาย แต่ครั้งนี้ใบเหี่ยวเฉา ลำต้นข้าวเปื่อย น้ำบางจุดจะมีสีดำมีกลิ่นเหม็น เมื่อใช้มือดึงโคนต้นข้าวก็จะขาด อยากให้ทางราชการส่ง จนท.มาดูว่าเกิดอะไรขึ้น โดยต้นน้ำในลำ ห้วยยาง มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่
ขณะที่มวลน้ำก้อนใหญ่ที่ไหลท่วม ม.1, 2 , 3 , 4 , 5 , 10, 11 และ 13 ต.หมูม่น อ.เมืองอุดรธานี ตั้งแต่เช้าวานนี้ ระดับน้ำสูงขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย โดยเฉพาะในส่วนที่ไหลไปรวมกับน้ำ ที่ระบายออกมาจากอ่างฯหนองสำโรงวันละ 2.7 ล้าน ลบม. และต้องไหลลอดสะพานข้ามทางรถไฟ และไหลลอดสะพานถนนมิตรภาพ บริเวณสะพานบ้านท่าตูม ต.หมูม่น อ.เมืองอุดรธานี ซึ่งมีสภาพเป็นคอขวด ระดับน้ำจึงยกตัวสูงขึ้น เข้าท่วมไหล่ทางถนนมิตรภาพ ขาออกเมืองอุดรธานี ด้านหน้าหมู่บ้าน พีเค.ธานี และหมู่บ้านศรีธานี ต้องเอากรวยยางมากันแนว 2 เลน ระยะทาง 500 เมตร ทำให้น้ำที่ไหลล้นลำห้วยหลวง ไหลไปลงที่ลำห้วยโซ่ ที่อยู่ห่างไปทางทิศเหนือ 1 กม. เพื่อไหลลอดสะพานถนนมิตรภาพ ไปยังฝั่งตะวันออกถนนมิตรภาพ ซึ่งมวลน้ำก้อนใหญ่นี้จะไหลไปที่ “ประตูน้ำบ้านสามพร้าว” ต.สามพร้าว อ.เมือง อุดรธานี ที่ยกบานประตูขึ้นสูงสุดทั้ง 5 บาน พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 4 เครื่อง เร่งระบายน้ำผ่านจุดนี้ ส่งต่อไปยัง อ.เพ็ญ อ.พิบูลรักษ์ อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี และไหลลงสู่ แม่น้ำโขง ที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ต่อไป
นายสุนทร คำศรีเมือง ผอ.โครง การส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง จ.อุดรธานี ออกประกาศ ฉบับที่ 4 “ลดการพร่องน้ำและแนวโน้มสถานการณ์” ว่านับตั้งแต่การประกาศพร่องน้ำ “อ่างฯห้วยหลวง” ฉบับที่ 1 มีปริมาณน้ำ 122.46 ล้าน ลบม. หรือ 90.34 % และมีน้ำไหลเข้าอ่างฯต่อเนื่อง ต้องพร่องน้ำออกจากอ่างฯ ตามลำดับตั้งแต่ 13 ก.ย.66 วันละ 6.6 แสน ลบม. จนสูงถึงวันละ 17 ล้าน ลบม. และลดลงจนเมื่อวานนี้วันละ 8.8 ล้าน ลบม.
ขณะประสิทธิภาพระบายน้ำได้วันละ 6.91 ล้าน ลบม. จึงเกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ ตลอดลำห้วยหลวงในพื้นที่ ต.เมืองเพีย ต.เชียงเพ็ง อ.กุดจับ , ต.เชียงยืน ต.นากว้าง ต.หมูม่น อ.เมืองอุดรธานี จากการพร่องน้ำของอ่างฯห้วยหลวง 17-20 ก.ย.66 รวม 57.32 ล้าน ลบ.ม. น้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ บ.บ้านท่าตูม (สะพานถนนมิตรภาพอุดรธานี-หนองคาย) 29.61 ล้าน ลบม. ประเมินว่ายังมีน้ำอยู่ในลำห้วยหลวง และค้างอยู่ตามทุ่งนา หรือน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ 27.71 ล้าน ลบม. หากไม่มีฝนตก หนักลงมาเพิ่มเติม ระดับน้ำจะลดลงสู่ภาวะปกติภายใน 2 – 3 วัน.
Discussion about this post