
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดศรัทธาธรรม (วัดมอญ) ต.บางจะเกร็ง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ทางเข้าดอนหอยหลอด วัดศรัทธาธรรมได้ร่วมกับเทศบาลตำบลบางจะเกร็ง จัดให้มีการ“ตักบาตรน้ำผึ้ง”เพื่อสืบทอดประเพณีโบราณของชาวมอญและสร้างบุญกุศล โดยทางวัดนำบาตรพระวางบนเชิงบาตรที่ทำจากหวายสำหรับใส่น้ำผึ้ง ส่วนอาหารคาวหวานให้วางในถาดเนื่องจากชาวมอญตักบาตรน้ำผึ้งพร้อมกับอาหารคาวหวานผลไม้และน้ำดื่ม โดยชาวมอญบางส่วนได้ใส่ชุดประจำชนชาติมอญมาตักบาตรอย่างสวยงาม มีเอกลักษณ์คือ“สไบมอญ”สำหรับหญิงสาว นอกจากความสวยงามแล้วยังเป็นการแสดงความสำรวมเมื่อเข้าวัดอีกด้วย โดยสไบมอญมีหลากสีนิยมปักลวดลายเองด้วยมือ และเมื่อมาทำบุญที่วัดสาวมอญส่วนใหญ่จะเลือกห่มสไบตามสีวันเกิด ส่วนลวดลายจะเป็นดอกไม้หรืออื่นๆที่เป็นเอกลักษณ์ตามวิถีดั้งเดิมหรือลวดลายที่ประดิษฐ์ใหม่ เช่นลายดอกจิกทะเล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ จ.สมุทรสงครามเป็นต้น ส่วนผู้ชายเรียกว่า“ผ้าพาดบ่า”ส่วนใหญ่เป็นผ้าขาวม้า ซึ่งผ้าสไบมอญนี้มีการสืบทอดกันมานานกว่าร้อยปีเช่นเดียวกับประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง
นายชัยสิทธิ์ นันธนากิตติ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.บางจะเกร็ง ประธานกิตติมศักดิ์ชมรมมอญบางจะเกร็ง บอกว่า น้ำผึ้งที่ชาวบ้านใส่บาตรนั้น ชาวมอญเชื่อว่ามีอานิสงส์มากเพราะพระสงฆ์จะเก็บน้ำผึ้งนั้นไว้ใช้เป็นยาในคราวจำเป็นเมื่อเกิดอาพาธ เพราะน้ำผึ้งเป็นส่วนผสมที่สำคัญของยาหลายขนาน ส่วนที่มาของการ”ตักบาตรน้ำผึ้ง”นั้นปรากฏในชีวประวัติของ“พระสีวลี”พุทธสาวกที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องให้เป็น“ภิกษุที่เลิศทางมีลาภ”โดยในอดีตชาติหนึ่งนั้น พระสีวลีเกิดเป็นชาวบ้านธรรมดา ในตำบลใกล้เมืองพันธุมวตี แต่เป็นผู้ขยันขันแข็งด้านการถวายทาน อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ชาวเมืองสมัยนั้นนิยมถวายทานแข่งกับพระราชา โดยชาวเมืองเห็นว่าน้ำผึ้งกับเนยแข็งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในทานของพวกเขา จึงจำเป็นต้องจัดหามาถวายทานให้ได้เพื่อจะได้ไม่น้อยหน้าพระราชา ดังนั้นจึงมีการแต่งตั้งคนดูต้นทาง ให้คอยสอดส่องสังเกตที่บริเวณหน้าประตูเมืองว่ามีใครมีของสองสิ่งนี้ คือน้ำผึ้งกับเนยแข็งติดตัวมาบ้าง
ขณะเดียวกัน สีวลีหนุ่ม ก็กำลังเดินทางเข้าเมืองพร้อมด้วยเนยแข็งเพื่อนำไปแลกกับสิ่งของเครื่องใช้ ระหว่างทาง เขาได้พบรวงผึ้งขนาดเท่างอนไถที่ไม่มีผึ้งอาศัยอยู่ จึงนำติดตัวไปด้วย เมื่อผ่านประตูเมือง คนดูต้นทางไม่รอช้า เข้าเจรจาขอซื้อเนยแข็งกับรวงผึ้งทันทีในราคา 1 กหาปณะ (4 บาท) แต่สีวลีหนุ่มคิดว่านี่เป็นราคาที่สูงเกินไป จึงต้องการจะสืบต้นสายปลายเหตุให้รู้แน่ เขาจึงโก่งราคาไปเรื่อย ๆ จนสูงถึง 1,000 กหาปณะ จึงได้สอบถามจนได้ความตามข้างต้น สีวลีหนุ่มจึงตัดสินใจไม่ขาย แต่จะขอใช้น้ำผึ้งกับเนยแข็งนี้ร่วมทำบุญกับชาวเมืองด้วย ทั้งยังตั้งจิตอธิษฐานให้ผลบุญนี้ทำให้ตนเป็นเลิศในลาภยศในอนาคตอีกด้วย
การถวายน้ำผึ้งของชาวมอญ จึงเป็นความเชื่อที่มีผลพวงมาจากการที่ชาวมอญนั้นมีความเคารพ ศรัทธาในพระสีวลี จึงมีประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งสืบทอดต่อกันมาและการที่ชาวมอญถวายน้ำผึ้งแด่พระภิกษุสงฆ์ ก็ตามแบบอย่างที่พระสีวลีเคยทำในชาติก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์ในปัจฉิมชาติ ที่ได้เป็นเอตทัคคะทางด้านการมีลาภมากนั้น ชาวมอญเชื่อว่าการถวายน้ำผึ้งจะเป็นทางที่จะทำให้ผู้ถวายจะมีโชคลาภเหมือนกับพระสีวลี แต่หากไม่สมหวังในชาตินี้ในชาติหน้าก็คงจะได้อย่างแน่นอน
นายศราวุธ กล้วยจำนงค์ นายกเทศมนตรีตำบลบางจะเกร็ง บอกว่า ประเพณี”ตักบาตรน้ำผึ้ง”ในเมืองไทย มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ตนไม่ทราบ แต่ตนเกิดมาก็เห็นที่วัดศรัทธาธรรมมีแล้ว โดยทุกปีเมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ประเพณีดั่งเดิมตักบาตรน้ำผึ้งชาวบ้านจะเตรียมทำข้าวต้มเพื่อไปทำบุญใส่บาตร แต่ละบ้านจะทำข้าวต้มไม่เหมือนกัน เช่น ข้าวต้มลูกโยน ลักษณะลูกกลมห่อด้วยยอดจากจะทิ้งหางยาว, ข้าวต้มคลุก มีลักษณะลูกใหญ่และยาวห่อด้วยยอดจากเวลาทานต้องหั่นเป็นชิ้นคลุกด้วยน้ำตาลทราย เกลือ และมะพร้าวขูด, ส่วนข้าวต้มมัด หรือข้าวต้มผัด มีลักษณะยาวข้างในใส่ถั่วดำและกล้วยห่อด้วยใบตองหรือใบจากก็ได้ประกบคู่แล้วมัดด้วยยอดจากฉีกครึ่ง เมื่อถึงช่วงเย็นของวันที่ทำข้าวต้มมัดหรือข้าวต้ม ชาวบ้านก็จะให้ลูกหลานนำไปส่งตามบ้านผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือได้นำไปใส่บาตรและรับประทานด้วย
สำหรับประเพณี”ตักบาตรน้ำผึ้ง”ปัจจุบันยังมีให้เห็นในวัดมอญตามจังหวัดต่างๆทั่วประเทศไทย ส่วนที่ จ.สมุทรสงคราม วัดศรัทธาธรรม หรือที่เรียกกันว่า “วัดมอญ” ยังเป็นวัดเดียวที่ยังคงอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้เนื่องจากในพื้นที่มีพี่น้องชาวไทยเชื้อสายมอญอาศัยอยู่เป็นชุมชนประมาณ 1,000-1,500 คน และมีการสืบสานประเพณีดังกล่าวมานับร้อยปีแล้ว
///// ข่าวสมุทรสงคราม /////
Discussion about this post