เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 นายสุวรรณ โสดา นายก อบต.อีเซ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายสมบัติ ไกรวิเศษ หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ศก.9 ว่าที่ ร.ต.เหมราช สุดมาชาติ ฝ่ายกฎหมายเครือข่ายคณะกรรมการป่าชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการป่าชุมชน และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ป่าชุมชนในเขตพื้นที่ 2 ตำบล คือ ต.อีเซ และต.เสียว อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ หลังมีเหตุคนร้ายพยายามบุกเข้ามาลักลอบตัดไม้พะยูงและขุดรากถอนโคนอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ซึ่งจากการตรวจสอบพบร่องรอยของคนร้ายกำลังก่อเหตุขุดดินบริเวณโดยรอบของโคนต้น เพื่อเตรียมงัดรากที่เคยมีการตัดโค่นลำต้นไปแล้ว แต่ไม่หนำใจกลับมาพยายามจะเอารากไปอีก ถือว่าเป็นการกระทำที่เหิมเกริมอย่างมาก

นายสุวรรณ โสดา นายก อบต.อีเซ กล่าวว่า ป่าชุมชนโนนใหญ่ แห่งนี้ มีพื้นที่ทั้งหมด 2,040 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ใน ต.เสียว และต.อีเซ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ ป่าแห่งนี้เดิมทีเป็นป่าสงวนแห่งชาติโนนลาน ต่อมาได้ประกาศให้เป็นเขตป่าชุมชน โดยมีพื้นที่คาบเกี่ยวกันใน 2 ตำบล ในการช่วยกันดูแลรักษา ป่าแห่งนี้มีต้นไม้นานาพันธุ์หลายชนิด โดยเฉพาะไม้พะยูง ที่มีค่ามาก โดยเราพยายามที่จะช่วยกันรักษา ทั้งในเรื่องของการบวชป่า หรือการดูแลรักษาด้วยวิธีต่างๆ เพื่อป้องป้องผืนป่าแห่งนี้ไม่ให้ถูกทำลาย ในรูปของคณะกรรมการป่าชุมชน ร่วมกับทางอำเภอ อส. ฝ่ายปกครอง
ต่อมาเริ่มมีการลักลอบตัดไม้พะยูง หายไปทีละต้นสองต้น ซึ่งแรกๆเข้าใจว่าน่าจะเป็นคนร้ายที่มาจากต่างถิ่น จึงได้มีการวางแผนสกัดกลุ่มแก๊งขบวนการตัดไม้ โดยการขุดหลุมพราง ตามเส้นทางที่คาดว่าคนร้ายจะใช้เป็นเส้นทางลำเลียงหลบหนี หลังจากนั้นไม่นานก็ปรากฏว่ามีคนร้ายวิ่งไปตกหลุมพรางที่ขุดไว้จริงๆ จนจับตัวได้ในที่สุด ซึ่งขณะนั้นจับได้เพียงเลื่อยที่เตรียมจะก่อเหตุ แต่ยังไม่ได้ตัด จากนั้นหลังๆมา เชื่อว่าคนร้ายจะไม่ใช่คนที่มาจากพื้นที่อื่นแล้ว กลับเป็นคนในพื้นที่ เป็นผู้ชี้เป้าบ้าง เป็นผู้ก่อเหตุเองบ้าง เพราะจะรู้เส้นทางหมดเลย ทั้งเส้นทางเข้าออกภายในป่า อีกทั้งยังมีวิทยุสื่อสารพูดคุยกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดดเห็นอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ แต่ก็มีการตัดไม้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเราค่อนข้างจะท้อแท้ใจ ยิ่งได้สืบรู้ว่า ไม้นี้มีเส้นทางไปถึงจุดใด ใครอยู่เบื้องหลังแล้ว ยิ่งรู้ ยิ่งหดหู่ใจ ท้อใจ เป็นอย่างมาก อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือเพื่อป้องกันทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน
ว่าที่ ร.ต.เหมราช สุดมาชาติ ฝ่ายกฎหมายเครือข่ายคณะกรรมการป่าชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า หลังจากที่ตนได้ทราบเหตุจากทางสื่อออนไลน์ ว่ามีการก่อเหตุลักลอบตัดไม้ และเข้ามาขุดเอารากไม้พะยูง จึงได้นำคณะลงพื้นที่มาเพื่อหาแนวทางป้องกัน ว่าจะสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง ทั้งในด้านการป้องกัน ปราบปราม และในด้านกฎหมาย ซึ่งจากการตรวจสอบป่าชุมชนในวันนี้ พบว่าไม้พะยูงในป่าแห่งนี้ บางต้น มีอายุมากกว่า 100 ปี แต่ปัจจุบัน คงเหลือเพียงสภาพโคนต้น ที่มีการเอาเหล็กมาหุ้มลำต้นไว้ เพื่อป้องกันการถูกตัด
แต่ก็ยังไม่วายที่คนร้ายจะใช้ความพยายาม ปีนขึ้นไปบนเหล็กที่หุ้มลำต้น สูงกว่า 3 เมตร ขึ้นไปตัดเอาส่วนบนซิ่งเป็นกิ่งก้านของไม้พะยูงหลบหนีไป เหลือไว้เพียงส่วนที่ถูกหุ้มด้วยเหล็ก ซึ่งในปัจจุบันนี้คนร้ายยังคงมีความพยายามแอบเข้ามาก่อเหตุอยู่เรื่อยๆ แต่เราไม่ทราบว่าคนร้ายจะเข้ามาก่อเหตุเวลาใด อยู่ที่การป้องกันของเจ้าหน้าที่
ด้าน นายสมบัติ ไกรวิเศษ หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ศก.9 กล่าวว่า หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ศก.9 มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด รวม 10 คน รับพื้นที่รับผิดชอบ 7 อำเภอ 12 ป่าสงวน ซึ่งจากการสำรวจป่าแห่งนี้ เดิมทีมีไม้พะยูงค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันนี้แทบไม่เหลือแล้ว แม้แต่ตอไม้ที่ถูกตัดแล้ว ก็ยังมีความพยายามที่จะเข้ามาก่อเหตุขุดรากไปอีก เราไม่แน่ใจว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ ใครเป็นผู้ชี้เป้า แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนอยู่เรื่อยๆ เพื่อป้องกันรักษาป่าให้คงอยู่สืบไป.
ทีมข่าว จ.ศรีสะเกษ // รายงาน
Discussion about this post