
เมื่อวันที่ 5 ต.ค.66 นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผวจ.ศรีสะเกษ เปิดเผยสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ว่า ขณะนี้พบว่า น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 16 แห่ง มีปริมาณน้ำเกินความจุเก็บกักเกิน 100 เปอร์เซ็นแล้ว จำนวน 13 แห่ง ส่วนอีก 3 แห่ง มีปริมาณน้ำเกินกว่า 80 เปอร์เซ็น ขณะที่ลำน้ำมูล บริเวณเขื่อนหัวนา อ.กันทรารมย์ มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 154.95 เปอร์เซ็น และเขื่อนราษีไศล อ.ราษีไศล มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 82.35 เปอร์เซ็น
สรุปข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้านอุทกภัย (น้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูก) จังหวัดศรีสะเกษ
สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ ได้สำรวจพื้นที่พบว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้านอุทกภัย น้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักสะสมและน้ำในลำน้ำมูลและลำน้ำชี บริเวณท้ายเขื่อนหัวนา ได้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตร เมื่อวันที่ 25-26 กันยายน 2566 และวันที่ 3 ตุลาคม 2566 จำนวน 3 อำเภอ 5 ตำบล 14 หมู่บ้าน 1,153 ครัวเรือน 4,044 ไร่
ประกอบด้วย อำเภอกันทรารมย์ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 3 ตำบล ได้แก่ ต.ทาม ,ต.หนองแวง และต.หนองแก้ว รวม 15 หมู่บ้าน 1,104 ครัวเรือน พื้นที่ 3,689 ไร่
ส่วนที่ อำเภอภูสิงห์ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 1 ตำบล ได้แก่ ต.ตะเคียนราม รวม 2 หมู่บ้าน 28 ครัวเรือน พื้นที่ 165 ไร่ และที่อำเภอยางชุมน้อย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 1 ตำบล ได้แก่ ต.โนนคูณ รวม 1 หมู่บ้าน 21 ครัวเรือน พื้นที่ 190 ไร่
ทั้งนี้ได้มีการแจ้งประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เสี่ยง เร่งประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือนให้ประชานชนในพื้นที่ได้ทราบข้อมูล และเร่งสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและรายงานให้อำเภอและจังหวัดทราบต่อไป
นอกจากนี้เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในเขตพื้นที่เศรษฐกิจ ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ได้มอบหมสยให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำประจำจุดพื้นที่เสี่ยง พร้อมปฏิบัติงานเมื่อเกิดสถานการณ์ฝนตกหนักน้ำท่วมขังพื้นที่ ตลอด 24 ชั่วโมง.
ทีมข่าว จ.ศรีสะเกษ // รายงาน
Discussion about this post