
วันที่ 24 ตุลาคม 2566 ที่ห้องประชุมร่มเกล้า ชั้น 3 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม นายแพทย์กิตติเชษฐ์ ธีรกุลพงศ์เวช รักษาการนายแพทย์เชี่ยว ชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ดร.ศิริลักษณ์ ใจช่วง รักษาการนักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ (ด้านส่งเสริมพัฒนา) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม นำคณะเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุมจัดทำแผน 5 ปี การพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่ายโดยการเพิ่มศักยภาพการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเอกชเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) และเครื่องตรวจด้วยสนามแม่เหล็กแรงสูง (MRI) เพื่อดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข 2567 ที่สำคัญไว้ 13 ข้อ ซึ่งในข้อ 9 กำหนดให้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่ายที่มีระบบส่งต่อแบบไร้รอยต่อและยกระดับการให้บริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ โดยเน้นการเพิ่มศักยภาพการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) และเครื่องตรวจด้วยสนามแม่เหล็กแรงสูง (MRI) ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยนายแพทย์วิศิษฐ์ วิจิตรโกสุม รองผู้อำนวยการด้านลูกค้าสัมพันธ์และคลินิกพิเศษ โรงพยาบาลอุดรธานี เป็นประธานการประชุมฯ
ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบแผนการพัฒนาศักยภาพ Service Delivery (SAP) เขตสุขภาพที่ 8 รวมทั้งได้พิจารณาหน่วยบริการที่ควรมีการให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) และเครื่องตรวจด้วยสนามแม่เหล็กแรงสูง (MRI) รพ. (SAP) ระดับ A+, A , S+ รวมทั้งการจัดทำแผน Mapping การให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) และเครื่องตรวจด้วยสนามแม่เหล็กแรงสูง (MRI) ของทั้ง 7 จังหวัด ในเขตสุขภาพที่ 8 ประกอบด้วย จังหวัดอุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ และจังหวัดอุดรธานี ซึ่งจังหวัดนครพนม มี 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลนครพนม โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม และโรงพยาบาลศรีสงคราม โดยสำนักงานเขตสุขภาพที่ 8 มีกำหนดส่งข้อมูลให้กระทรวงสาธารณสุข ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2566 นี้.
Discussion about this post