เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 น. ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมด้วยคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีนายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายไพฑูรย์ มหาชื่นใจ ปลัดจังหวัด นางสาวจอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(อดีต ส.ส.สมุทรสาคร) นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ พี่น้องชาวประมงและกลุ่มเกษตรกรทุกประเภท ผู้ประกอบการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
โดยจุดแรกได้ลงพื้นที่ไปที่บริเวณ บ่อปลากะพง ของนายเฉลิมพล เกิดปั้น (ผู้ใหญ่อ๋อย) หมู่ที่ 5 ตำบลยกกระบัตร อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อรับฟังปัญหาจากพี่น้องเกษตรกรด้านต่าง ๆ ทั้งจากกลุ่มเกษตรกรทำประมงพัฒนาเกษตรพอเพียง 49 เสนอปัญหาเรื่องของการขอใช้พื้นที่และอาคารก่อสร้าง ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ ริมถนนพระราม 2 เพื่อนำมาปรับเป็นศูนย์อาหารและจำหน่ายสินค้าเกษตรแบบครบวงจรได้มาตร ฐาน,สมาคมผู้เลี้ยงปลาทะเลไทย เสนอปัญหาเรื่องการนำเข้าปลากะพงจากต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการแทรกแซงทางการตลาดของไทยและราคาปลาในประเทศตกต่ำลง ส่วนการส่งออกก็ชะลอตัว,กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดฉะเชิงเทรา เรื่องของปลาหมอสีคางดำระบาด,กลุ่มเกษตรกุ้งขาวแปลงใหญ่ เรื่อง ราคากุ้งตกต่ำ,สหกรณ์การเกษตรบ้านแพ้ว จำกัด เรื่องของปุ๋ย ยาเคมี ค่าแรง และอาหารปลา ที่มีราคาสูงขึ้น ส่งผลทำให้เกษตรกรต้องแบกภาระต้นทุนการผลิตมากขึ้นตามไปด้วย บางคนถึงกับขาดทุน,สหกรณ์การเกษตรประสานกสิกิจ จำกัด เรื่องของปลาหมอสีคางดำระบาด การถูกรุกรานจากสัตว์คุ้มครองอย่างตัวเงินตัวทอง ที่เข้ามากินปลาและกุ้งที่เลี้ยงไว้ ดังนั้นจึงต้องการให้มีการปลดล๊อคสัตว์คุ้มครองประเภทนี้ หรือหามาตรการที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมตัวเงินตัวทองได้มากกว่านี้ และเรื่องของห้องเย็นที่ช่วยรักษาสภาพของน้ำตาลมะพร้าวให้คงอยู่ได้นานขึ้นในช่วงฤดูกาลหน้าร้อน,กลุ่มเกษตรชาวสวนผลไม้ กล้วยไม้ อำเภอบ้านแพ้ว และอำเภอกระทุ่มแบน เรื่องปัญหาการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชให้แก่กล้วยไม้ไทยที่วางขายอยู่ที่สนามบิน เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถซื้อกลับและนำเข้าไปในประเทศของตนเองได้ อันจะเป็นการเผยแพร่เอกลักษณ์ที่โดดเด่นและสวยงามของกล้วยไม้ไทยให้เป็นที่รู้จักของทั่วโลก อีกทั้งยังส่งผลไปถึงการเปิดตลาดกล้วยไม้ไทยให้กว้างมากยิ่งขึ้น และปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่ต้องนำมาใช้ในภาคเกษตร ขณะที่เกษตรกรผู้ทำนาเกลือ ทั้งจากกลุ่มวิสาหกิจบ้านนาโคก นาเกลือสัมพันธ์ กลุ่มอาชีพผู้ทำนาเกลือตำบลนาโคก สหกรณ์นาเกลือสมุทรสาคร จำกัด กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์ หมู่ 3 ตำบลโคกขาม กลุ่มเกษตรกรนาเกลือตำบลบ้านบ่อ และกลุ่มเกษตรกรนาเกลือตำบลกาหลง ต่างก็มีปัญหาที่คล้ายๆ กัน คือ เรื่องของการประกันราคาเกลือ สนับสนุนงบประมาณการทำยุ้งฉาง จัดตั้งสินเชื่อชะลอราคาเกลือ ยกระดับการผลิตเกลือ ส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อการเก็บเกลือ การนำเข้าและการผสมเกลือต่างประเทศกับเกลือทะเลไทย ส่งผลทำให้เกลือทะไทยกลายเป็นสินค้าด้อยคุณภาพลง และการส่งเสริมอนุรักษ์อาชีพทำนาเกลือทะเลไทยใน 7 จังหวัดให้คงอยู่สืบต่อไป เป็นต้น

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า “จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับฝ่ายปกครอง ซึ่งนำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้ลงพื้นที่บ่อปลากะพง ของผู้ใหญ่อ๋อย แห่งนี้ ก็ได้มีการรับฟังปัญหาของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่หลายกลุ่มด้วยกัน โดยเรื่องเร่งด่วนที่สามารถสั่งการได้ทันที ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ อาทิ 1) มอบหมายกรมวิชาการเกษตรเร่งรัดการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phyto Certificate) สำหรับกล้วยไม้ที่จำหน่ายในท่าอากาศยานนานาชาติในประเทศไทยเนื่องจากนักท่องเที่ยวจะสามารถซื้อกล้วยไม้ไทย และถือเข้าประเทศปลายทาง โดยมีใบรับรองสุขอนามัยแนบ 2) มอบหมายกรมประมงดำเนินการแก้ปัญหาราคาปลากะพงขาวตกต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าปลากะพงขาวจำนวนมากจากต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อกลไกราคาในประเทศ รวมทั้งขอให้มีการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างอย่างเข้มงวดก่อนการอนุญาตนำเข้า และการหามาตรการปราบปรามปลาหมอสีคางดำ ที่ทำลายระบบนิเวศ 3) การแก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิตสูง จากสาเหตุปุ๋ยแพง ราคาอาหารปลาสูง และค่าแรงงานสูง และ 4) กลุ่มเกษตรกรนาเกลือซึ่งเป็นอาชีพเก่าแก่ของจังหวัดสมุทรสาคร ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย โดยจะมีการปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้งใหม่ ซึ่ง รมว.กษ. จะเป็นประธานกรรมการในชุดนี้ ทั้งนี้ ได้เตรียมให้จัดประชุมนัดแรกในวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายนนี้ มีประเด็นการหารือที่สำคัญหลายเรื่อง เช่น การสนับสนุนการแปรรูปสู่ภาคอุตสาหกรรม การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี เป็นต้น”
จากนั้น ในเวลา 13.00 น. ได้เดินทางไปที่ห้องประชุมตลาดทะเลไทย เพื่อพบปะกลุ่มเกษตรกรชาวประมง ในพื้นที่ตำบลบางหญ้า แพรก ตำบลโคกขาม ตำบลพันท้ายนรสิงห์ ตำบลบางกระเจ้า กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงหอยทะเลตำบลบางกระเจ้า ตำบลกาหลง ตำบลนาโคก ตำบลโคกขาม ตำบลพันท้ายนรสิงห์ สภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรสาคร สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร สหกรณ์พัฒนาการประมงมหาชัย จำกัด บริษัท มหาชัยร่วมใจพัฒนา จำกัด (ตลาดทะเลไทย) ชมรมผู้ค้ากุ้งจังหวัดสมุทรสาคร หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ชมรมผู้ค้าปลาจังหวัดสมุทรสาคร และสมาคมประมงภาคกลางทั้งหมด ซึ่งก็มีพี่น้องชาวประมงชายฝั่ง ประมงพาณิชย์ และกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงหอย ต่างมานำเสนอปัญหาที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข อาทิเช่น ปัญหาขนาดตาอวนที่ผิดกฎหมาย,เวลาการทำประมง,ข้อกำหนดด้านระยะทางในการทำประมง,การปรับเปลี่ยนเครื่องมือทำประมงอวนรุนเคย , กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่บีบพี่น้องชาวประมงมากเกินไป ,ปัญหาน้ำเสียและสภาพแวดล้อมทางทะเล,การรับซื้อเรือคืนหรือการนำเรือออกนอกระบบ,ปัญหาด้านแรงงานในเรือประมง และการให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวประมงในด้านต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เคยมีการนำเสนอไปแล้วเมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินทางมาที่จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นต้น แต่ปัญหาที่ชาวประมงน้ำเค็ม ประมงน้ำจืด และพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาและกุ้ง ประสบเหมือนกันคือ การระบาดของปลาหมอสีคางดำ ที่มีการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วพบในพื้นที่ชายทะเล 7 จังหวัด ตั้งแต่ฉะเชิงเทราถึงประจวบคีรีขันธ์ แต่ที่พบมากที่สุดคือในพื้นที่ 3 สมุทร ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และ จังหวัดเพชรบุรี
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำหรับปัญหาของพี่น้องชาวประมงที่มารับฟังในครั้งนี้ ก็ได้เก็บรวบรวมไว้หมดแล้ว ซึ่งส่วนไหนที่เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็จะเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน ส่วนประเด็นของการนำเรือประมงออกนอกระบบนั้น ก่อนหน้านี้ได้เคยมีการเสนอของบประมาณไปยังสำนักงบฯ แล้ว แต่ยังมีบางส่วนที่ต้องปรับแก้ไข ทางสำนักงบฯ จึงได้ให้นำมาปรับใหม่และจะรีบนำเสนอไปยังสำนักงานงบประมาณอีกครั้ง นอกจากนี้ในเรื่องของการแก้ไขกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ตามที่พี่น้องชาวประมงได้เคยนำเสนอนายกรัฐมนตรีไปนั้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยกฎหมายทั้ง 19 ฉบับที่มีการแก้ไข ขณะนี้ก็กำลังจะเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บางเรื่องที่ต้องรีบนำเข้า ครม.ก็รีบนำเข้าให้เร็วที่สุด เพื่อเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะเรื่องของแรงงานตามมาตรา 83 อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับพี่น้องชาวประมงก็จะรีบปลดล๊อคให้เร็วที่สุด ซึ่งก็ขอให้พี่น้องชาวประมงทุกประเภทช่วยกันฟื้นฟูทะเลของตนเอง เพื่อการกลับมาเป็นเจ้าทะเลอีกครั้ง นอกจากนี้ในเรื่องการระบาดของปลาหมอสีคางดำนั้น ถือเป็นวาระสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะต้องมีมาตรการจัดการเรื่องนี้ให้เด็ดขาด เพราะถือเป็นความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงหลายจังหวัด
ด้านนายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร ก็เปิดใจด้วยว่า จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มาพบกับพี่น้องชาวประมงในครั้งนี้ ตนก็อยากจะฝากไปถึงรัฐบาลว่า ตอนนี้เราได้รัฐบาลใหม่แล้ว และมีนโยบายใหม่แล้วนั้น ก็อยากให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมง รับนโยบายและส่งเสริมอาชีพของพี่น้องชาวประมง โดยอยากให้เปลี่ยนจากนโยบายป้องปราม มาเป็นส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้ชาวประมงมีที่ยืนและเติบโตได้.
ณัฐวุฒิ เอกจิโรภาส /สมุทรสาคร
Discussion about this post