
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่บ้านเลขที่ 84 ม.2 ต.ชากบก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง บ้านของ นายบุญรอด บำรุงวงค์ อายุ 69 ปี และนางสำรวม บำรุงวงค์ อายุ 65 ปี สองสามีภรรยา ซึ่งเป็นตา ยาย ของ ด.ช ระวีพงษ์ พรหมอ่อน หรือน้องการ์ตูน อายุ 9 ขวบ
น้องการ์ตูน เรียนหนังสืออยู่ชั้น ป.3 โรงเรียน หนองพะวา ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย มีนิสัยชอบวาดภาพ ตายายก็ช่วยกันสนับสนุน และเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวบ้านในชุมชน เมื่อน้องการ์ตูน สามารถเชิดตัวหนังได้เองเพียงลำพัง บ่อยครั้งที่ชาวบ้านมักจะมาคอยชมการเชิดหนังของน้องการ์ตูน ซึ่งแสดงได้อย่างแคล่ว คล่อง
ที่สำคัญ ตัวหนังทั้งหมด น้องการ์ตูนจะวาดขึ้นมาเอง ส่วนใหญ่จะใช้จินตนาการ แต่บางตัวก็จะดูแบบจากใน ยูทูป เช่นทศกัณฑ์ พระลักษณ์ พระราม แล้ววาดเองได้อย่างแคล่วคล่อง ไม่ต้องพิมพ์ลอกลาย เพียงแค่มีดินสอและกระดาษปอนด์ ก็สามารถลากลายเส้นได้โดยใช้เวลาไม่นานก็ได้ตัวหนัง มาระบายสี ต่อแขนขาด้วยการตอกตะปูขันเชือก เพื่อใช้สำหรับการชัก เวลาแสดง
นายบุญรอด บอกว่า เลี้ยงการ์ตูนมาตั้งแต่เกิด เพราะแม่ไปทำงาน ที่ตั้งชื่อว่าการ์ตูนเพราะช่วงนั้น ตัวการ์ตูนกำลังดัง หลานชอบวาดการ์ตูน วาดรถ วาดรูปต่างๆมาตั้งแต่อนุบาล พอมาเมื่อปีที่แล้วก็เริ่มมาวาดหนังตะลุง วาดได้ทุกตัว และที่น่าแปลกคือหลานมาถามก่อนว่า วาดตัวไหนได้ไม่ได้ ตัวไหนห้ามวาดบ้าง เราจึงไปเที่ยวสอบถามผู้รู้ จนทราบว่า ตัวหนังตะลุงมีตัวฤาษีที่ห้ามวาดเพราะมีครู จึงมาบอกหลาน ว่า เราวาดได้ทุกตัวเว้นตัวฤาษี ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มวาดมาเรื่อยๆทั้งๆที่ในตระกูลก็ไม่เคยมีใครเล่นหนังตะลุงมาก่อน หลานสนใจเอง แรกๆก็เริ่มทำตัวเล็กๆต่อมาก็พัฒนาให้เป้นตัวใหญ่เหมือนจริง จนเล่นหนังเองได้ ตายายก็ดีใจที่หลานทำได้เหมือนมีพรสวรรค์ ทำในสิ่งที่ดี ก็ให้การสนับสนุนคอยซื้ออุปกรณ์ให้เช่นกระดาษปอนด์ และเครื่องเขียนที่ขาดไม่ได้
ด.ช ระวีพงษ์ บอกว่า ชอบวาดภาพ และชอบวาดตัวหนังตะลุง เริ่มจากดูในโทรศัพท์ ดูการเล่นหนังตะลุงเรื่อง เจ้าชายโฉด ก็เลยจดจำมาแล้วนำตัวเอกเจ้าชายโฉด มาวาด ระบายสี ตัดให้เป็นตัวหนังตะลุง จากนั้นก็หัดเล่น ส่วนตัวหนังตะลุงที่ชื่นชอบคือตัวตลกเอก ชื่อ เจ้าเปื้อย และเจ้าพงษ์ การแสดงหนังตะลุงทำให้รู้ด้วยว่าตัวไหนดี ไม่ดี เช่นตัวทศกัณฑ์ ถือเป็นตัวร้าย เพราะชอบหาเรื่องคนอื่น ชอบฆ่าคน ไม่ดี
ทุกวันหลังกลับจากโรงเรียน น้องการ์ตูน ในวัย9ขวบ จึงไม่เคยไปวิ่งเล่น เหมือนเด็กในวัยเดียวกัน ส่วนการใช้โทรศัพท์ ก็จะใช้ในการค้นหาภาพตัวหนัง และศึกษาการเล่นหนังตะลุง เพื่อนำมาเล่นในยามว่าง แต่ละวันจะมีตัวหนังใหม่ๆที่เกิดจากจินตนาการ และหนังทุกตัว น้องการ์ตูนสามารถจดจำและนำมาแสดงให้ชมได้ หลากอรรถรส หลายอารมณ์ โดยเฉพาะช่วงที่ต้องแสดงการสู้รบ น้องการ์ตูนแสดงได้อย่างสนุก สนาน ไม่แพ้โรงหนังอาชีพทีเดียว.
Discussion about this post