
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานนำคณะหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ คณะลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาดจังหวัดนครพนม ร่วมกันประกอบพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ สามเณร จำนวน 45 รูป ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎ เกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เนื่องในวันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ท่าน
จากนั้นได้เดินทางไปร่วมกันประกอบพิธีวางพวงมาลาและถวายราชสดุดี ณ สนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในหลากหลายสาขาเพื่อปวงชนชาวไทยและประเทศชาติ ทั้งด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ การคมนาคม ศิลปวัฒนธรรม ด้านวรรณกรรม รวมทั้งทรงตั้งกองเสือป่าขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกหัดให้ข้าราชการและพลเรือนได้เรียนรู้วิชาทหาร ซึ่งประเทศ ไทยนับเป็นประเทศที่ 3 ของโลกที่มีการสถาปนากองลูกเสือขึ้นต่อจากประเทศอังกฤษและสหรัฐอเม ริกา อีกทั้งได้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย ด้วยมีพระราชปรารภว่า เมื่อฝึกผู้ใหญ่เป็นเสือป่าเพื่อเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือชาติบ้านเมืองแล้ว เห็นควรที่จะมีการฝึกเด็กชายปฐมวัยให้มีความรู้ทางเสือป่าด้วย เมื่อเติบโตขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่และประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง จากนั้นทรงตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็ก หลวง และจัดตั้งกองลูกเสือตามโรงเรียนต่าง ๆ รวมถึงกำหนดข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือขึ้น และพระราชทานคำขวัญแก่ลูกเสือว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” ซึ่งในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติในฐานะพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551
นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วร้อยกรองไว้มากถึง 1,236 เรื่อง มีทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะร้อยกรองนั้นทรงพระราชนิพนธ์ได้ทั้งกาพย์ กลอน โคลง และฉันท์ชนิดต่างๆ อย่างที่ยากจะหากวีผู้ใดเสมอเหมือน แม้ว่าจะเป็นฉันทลักษณ์ที่ยากแก่การประพันธ์ก็ทรงพระราชนิพนธ์ออกมาได้ไพเราะงดงามทั้งความ คำ และลีลาการประพันธ์ รวมถึงไม่ทรงพระราชนิพนธ์ผิดกฎข้อบังคับของฉันทลักษณ์ โดยพระราชนิพนธ์เรื่องแรกที่ค้นพบ คือเรื่องสั้นแฝงคติ เรื่อง ไม่กลัวผี ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ราชกุมาร เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2436 ขณะพระชนมพรรษาเพียง 12 พรรษา อีกทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้คำนำหน้านามว่า นาย นาง นางสาว เป็นครั้งแรกของประเทศ ไทย ทรงมีพระราชดำริให้เปลี่ยนธงชาติรูปช้างเผือกเป็นธง 5 แถบ ให้ปวงพสกนิกรชาวไทยได้มีความภาคภูมิใจเหมือนกับอารย ประเทศ โดยพระราชทานนามว่าธงไตรรงค์
ซึ่งเมื่อพระองค์ท่านทรงเสด็จสวรรคตปวงชนชาวไทย จึงได้รวมใจกันน้อมถวายพระราชสมัญญาว่า พระมหาธีรราชเจ้าอันหมายถึง มหาราชผู้ทรงเป็นจอมปราชญ์ โดยทางราชการได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันวชิราวุธ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ แม้ภายหลังจะมีการค้นพบหลักฐานว่าช่วงเวลาที่สวรรคตตรงกับช่วงตี 1 ของวันที่ 26 พฤศจิกายน แต่ยังคงให้ถือวันที่ 25 พฤศจิกายนเป็นวันวชิราวุธเช่นเดิม.
Discussion about this post