
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ที่ห้องประชุมเทพวรมุนี ศูนย์ประชุมสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ดร.ศิริลักษณ์ ใจช่วง รักษาการนักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ (ด้านส่งเสริมพัฒนา) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดการอบรมโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพวิชาการโรคมะเร็ง จังหวัดนครพนม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าสาเหตุการป่วยและตายด้วยโรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประเทศและมีแนวโนมสูงขึ้นเรื่อยๆ มะเร็งที่พบ 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปากมดลูก และสถิติโรคมะเร็งจังหวัดนครพนม ปี 2565 พบการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งมะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งปากมดลูก คิดเป็นอัตรา 0.37, 6.79, 1.11, 0.96 และ 0.52 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยเป็นอย่างมาก โดยมะเร็งเป็นปัญหาการเจ็บป่วยการเสียชีวิต รวมทั้งเป็นปัญหาที่ทำให้ประชาชนคนไทยสูญเสียการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ดร.ศิริลักษณ์ ใจช่วง รักษาการนักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ (ด้านส่งเสริมพัฒนา) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวว่า การเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งนอกจากทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ทรมานจากอาการของโรค และส่งผลต่อการมีสุขภาพชีวิตที่ดีแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสังคมและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กระทรวงสาธารณ สุขจึงมีนโยบายจัดตั้งทีม Cancer Warrior ในระดับประเทศ และระดับจังหวัด เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ด้านการป้องกัน การคัดกรอง การดูแลรักษาผู้ป่วยแบบครบวงจร และพัฒนาระบบบริการการดูแลรักษาผู้ป่วยในสถานบริการ พร้อมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง และการพัฒนาเครือข่ายระบบส่งต่อผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนภารกิจ Quick Win 100 วัน ประเด็นมะเร็งครบวงจรให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรอง ตั้งแต่ระยะแรกให้กับประชาชนทุกคนได้เข้าถึงบริการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ร่วมกับโรงพยาบาลนครพนม และคณะกรรมการ Service Plan สาขามะเร็ง ได้จัดทำโครงการอบรมวิชาการด้านโรคมะเร็ง เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านโรคมะเร็ง ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคมะเร็ง และระบบบริการด้านระบบการส่งต่อการเข้าถึงระบบการรักษา ซึ่งกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าอบรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบงานมะเร็งของโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุกแห่ง และผู้แทนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากทั้ง 12 อำเภอ.
Discussion about this post