เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น.ของวันที่ 16 ธันวาคม 2566 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่พบปะประชา ชนและติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาคลองโคกขาม โดยมี นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ในโอกาสนี้ ดร.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายสากล ชลคีรี ผู้อำนวยการโครงการชลประ ทานสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมนำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงเรือตรวจดูแนวคลองโคกขาม ทั้งคลองโคกขามเก่า และคลองโคกขามขุดใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่ศาลพันท้ายนรสิงห์ ที่ตั้งอยู่บริเวณปากคลองโคกขาม หมู่ที่ 7 ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร ขับตามลำคลองโคกขามเก่าเรื่อยเข้าไปเป็นระยะทางประมาณ 1.3 กิโลเมตร จากนั้นได้ย้อนกลับมาเข้าสู่คลองโคกขาม(ขุดใหม่) เป็นระยะทางอีกราวๆ 2.8 กิโลเมตร ซึ่งตลอดแนวคลองโคกขามเก่าที่เรือแล่นผ่านนั้น จะพบว่า นอกจากปัญหาทางด้านเส้นทางที่คดเคี้ยวเป็นอย่างมากแล้ว กระแสน้ำยังค่อนข้างแรงโดยเฉพาะช่วงเวลาที่น้ำทะเลขึ้น กระแสน้ำจะไหลแรงจนทำให้ยากต่อการบังคับเรือ ต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญเส้นทางเป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้นก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ ขณะที่เส้นทางคลองโคกขามใหม่นั้น จะมีแนวเป็นเส้นตรงจึงทำให้ง่ายต่อการควบคุมหรือบังคับเรือ มีความปลอดภัยต่อผู้ที่ขับขี่สัญจรทางเรือมากกว่า

จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ก็ได้มาพบกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบลพันท้ายนรสิงห์ และ ผู้แทนเกษตรกรจากจังหวัดสมุทรสงคราม ณ วัดบ้านโคก ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีพี่น้องมารอยื่นเรื่องปัญหาความเดือดร้อนที่ต้องการให้ทาง รมว.กษ.ช่วยแก้ไข เช่น เรื่องของราคามะพร้าวตกต่ำ ที่เกิดกับเกษตรกรในจังหวัดสมุทรสงคราม และเรื่องของน้ำทะเลหนุนจนเข้าท่วมที่อยู่อาศัยในพื้นที่ตำบลพันท้ายนรสิงห์ เป็นต้น
ด้านร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับการลงพื้นที่มาดูคลองโคกขามในครั้งนี้ ก็พบว่า ปัญหาของคลองโคกขามนั้นขาดการขุดลอกมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปีแล้ว จึงทำให้เวลาน้ำทะเลหนุนมีการพัดพาตะกอนเข้ามาจนกลายเป็นคลองที่ตื้นเขินและทำลายระบบนิเวศน์เก่าๆ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำเร่งด่วน ณ เวลานี้ คือได้สั่งการให้กรมชลประทาน ศึกษาสำรวจแนวคลองโคกขามทั้งสายเก่าและสายใหม่ เพื่อที่จะทำการขุดลอกโดยใช้เครื่องจักรกลทั้งเรือขุดและเรือโป๊ะของกรมประมงทำการขุดภายในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ และหลังจากที่ขุดลอกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการปรับภูมิทัศน์ทั้งสองคลองให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง คืนความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ ทำให้การสัญจรทางเรือกลับมาใช้งานได้ดังเดิม เป็นการรักษาไว้ซึ่งเส้นทางสายประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังจะต้องดำเนินการในเรื่องของประตูระบายน้ำ โดยมอบหมายให้นำระบบควบคุมประตูระบายน้ำด้วยคอมพิวเตอร์มาใช้ เพื่อรักษาระดับน้ำให้เพียงพอกับการสัญจร และรักษาระบบนิเวศน์ ซึ่งปัจจุบันการควบคุมการเปิด-ปิดประตูระบบน้ำดังกล่าว ยังใช้เจ้าหน้าที่ควบคุม ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ก็มีแผนดำเนินการในการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในโครงข่ายและแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย ตามแผนงานโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (2568 – 2571) ในโซน 9 พื้นที่ตั้งแต่คลองมหาชัย-คลองสนามชัย ถึงคลองพิทยาลงกรณ์ ประกอบด้วย คลองพระราม คลองเจ็ก คลองโคกขาม คลองแสมดำ และคลองหัวกระบือ
ทั้งนี้ คลองโคกขาม เป็นคลองระบายน้ำในระบบแก้มลิง โครง การแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบันคลองโคกขามมีสภาพคดเคี้ยวหักศอก และมีต้นไม้ปกคลุมค่อนข้างหนาทึบบริเวณ 2 ฝั่งคลอง และในบางจุดมีตะกอนตกจมในคลอง ทำให้ไม่สามารถคมนาคมสัญจรทางน้ำได้ อีกทั้งในช่วงน้ำหลากยังมีปัญหาในเรื่องการระบายน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการชลประทานสมุทรสาคร ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการก่อสร้างอาคารควบคุมบริหารจัดการน้ำในระบบแก้มลิง จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ประตูระบายน้ำคลองสหกรณ์สาย 2 และประตูระบายน้ำคลองสหกรณ์สาย 3/1 ปรับปรุงประ สิทธิภาพการระบายน้ำสู่แก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัยและแม่น้ำท่าจีน (เขื่อนป้องกันตลิ่งคลองโคกขามใหม่) ระยะทาง 635 เมตร นอกจากนี้ ยังมีแผนขุดลอกคลองเพิ่ม 2 แห่ง ได้แก่ คลองเจ๊ก และคลองลัดตะเคียน ส่วนปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวในจังหวัดสมุทรสงคราม และ ความเดือดร้อนของชาวบ้านในตำบลพันท้ายนรสิงห์ จังหวัดสมุทร สาครนั้น เรื่องของปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ ก็จะนำเข้าสู่การประชุมหารือ โดยมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาและแก้ไขปัญหาดังกล่าว อีกทั้งยังจะต้องมีการหาตลาดรองรับสินค้าให้แก่เกษตรกรที่เดือดร้อน ส่วนเรื่องน้ำท่วมที่อยู่อาศัยนั้น ก็ได้สั่งการให้ทางกรมชลประทานรับไปดำเนินการแล้ว.
ณัฐวุฒิ เอกจิโรภาส /สมุทรสาคร
Discussion about this post