เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 เวลา 00.00 น. ที่วัดกู่คำ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน พุทธศาสนิกชนจังหวัดน่าน และนักท่องเที่ยวจำนวนมากประมาณ 500 กว่าคน นำข้าวสารอาหารแห้ง ร่วมทำบุญตักบาตรเที่ยงคืนหรือเป็งปุ๊ด ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นโดยปีนี้มีประชาชนและนักท่องเที่ยวน้อยกว่าปีที่ผ่าน ตามความเชื่อของชาวล้านนาทางภาคเหนือ ว่าในวันขึ้น 15 ค่ำ ตรงกับวันพุธ โดยไม่เจาะจงว่าต้องอยู่ในเดือนใด พระพุทธเจ้าจะเสด็จออกมาโปรดสัตว์ โดยแปลงกายเป็นสามเณรออกมาเดินบิณฑบาตร ถ้าผู้ใดได้ใส่บาตรกับพระอุปคุตแล้วจะประสบแต่ความสุขร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทองได้บุญใหญ่หลวงเกิดโชคลาภ โดยกระทำพิธีอาราธนาพระอุปคุตจากแม่น้ำน่าน จากนั้นประกอบพิธีทางศาสนาพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ปาฐกถาธรรมเรื่องประวัติพระมหาอุปคุต กระทั่งเวลาเที่ยงคืนเป็นต้นไปพระสงฆ์ และสามเณร จำนวนกว่า 100 รูป จะเดินบิณฑบาตให้พระพุทธศาสนิกชนได้ร่วมทำบุญใส่บาตร โดยปีนี้ เป็งปุ๊ด หรือ ตักบาตรเที่ยงคืน ขึ้น 15 ค่ำ ตรงกับวันพุธที่ 27 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นวันพระขึ้น 15 ค่ำ จึงมีประชาชน นักท่องเที่ยว ทั้งเด็ก หนุ่มสาว ผู้สูงอายุ จำนวนมาก สวมเสื้อกันหนาวกันทุกคน เนื่องจากอากาศหนาวจัด นำข้าวสาร อาหารแห้ง มาร่วมใส่บาตรเที่ยงคืนกันอย่างคึกคักเต็มถนนรอบวัด เพื่อเป็นสิริมงคลกับตนเองและครอบครัว เชื่อกันว่า พระอุปคุต มีอิทธิฤทธิ์ปราบท้าววสวัตตี มีเรื่องเล่ามาว่าประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 2 หลังพุทธปรินิพพาน ณ นครปาตลีบุตราชธานี (ปัจจุบันคือเมืองปัตนะ ภาคใต้ของประเทศอินเดีย) พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ครองราชสมบัติในขณะนั้น ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ฉลองสมโภชพระสถูปเจดีย์ทั้งหมดที่พระองค์สร้างอย่างยิ่งใหญ่ ตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แต่ถูกพญามารมาผจญ ท่านจึงนิมนต์พระอุปคุตไปปราบพญามารจนยอมแพ้ จากนั้นพระอุปคุตก็มีชื่อเสียงในทางปราบมาร ท่านมีอีกชื่อว่า “พระบัวเข็ม” ปัจจุบันยังมีความเชื่อในหมู่ชาวล้านนาว่า พระบัวเข็มหรือพระอุปคุตยังมีชีวิตอยู่ ในทุกวันขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ ชาวล้านนาจะเรียกว่าเป็น “วันเป็งปุ๊ด” พระอุปคุต จะออกบิณฑบาตในร่างเณรน้อย และจะออกมาเวลาเที่ยงคืน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดประเพณีตักบาตรกลางคืนขึ้น
ประสิทธิ์ สองเมืองแก่น
โทร.0848084888
Discussion about this post