เมื่อวันที่ 4 เม.ย.67 ที่ห้องประชุม สำนักงานพาณิชย์จังหวัดประจวบฯ นายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จังหวัดฯ ครั้งที่ 2/2567 โดยมีผู้ร่วมประชุมประกอบ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนภาคเอกชน ท้องถิ่น และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟัง ทั้งนี้ จ.ประจวบฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมให้มีการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI)
โดยมีกระบวนการส่งเสริม คุ้มครอง ดูแลรักษามาตรฐาน เพื่อเพิ่มมูลค่าการตลาดให้แก่สินค้า จึงมีคำสั่งที่ 8749/2566 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จังหวัดประจวบฯ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดฯเป็นประธานและพาณิชย์จังหวัดประจวบฯ เป็นคณะกรรมการและเลขานุการมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลและส่งเสริมสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัด การรับรองคำขอจดทะเบียน หรือคำขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัด รวมถึงการพิจารณาแต่งตั้งคณะทำงาน หรือคณะอนุกรรม การ ซึ่งสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI แล้วมี 2 ชนิดได้แก่ “ทุเรียนป่าละอู” และ “มะพร้าวทับสะแก” และสินค้าที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียน 2 ชนิดคือ “ทุเรียนตะนาวศรีคีรีขันธ์” และ “สับปะรดสยามโกลด์ประจวบคีรีขันธ์” สินค้าที่อยู่ระหว่างการจัดทำคำขอและกำลังจะยื่นขอจดทะเบียน 1 ชนิดคือ “มะม่วงแก้วพุสามร้อยยอด” ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้รับรองการตรวจสอบคุณภาพฯ ทุเรียนป่าละอู ประจำปี 2567 จำนวนทั้งสิ้น 226 ราย (เกษตร กร 274 ราย) โดย เลขาฯ จะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน กล่าวว่า “ทุเรียนป่าละอู” เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทองพระราชทาน ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ทรงพระราชทานให้แก่ตำรวจตระเวนชายแดนนำไปปลูกที่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน ครั้ง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด ร.ร. อานันท์ ที่บ้านป่าละอู ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2509 จนกลายเป็นผลไม้ที่นิยมปลูกกันในพื้นที่ เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่ป่าละอูที่มีความพิเศษบนพื้นที่สูง สภาพอากาศและความอุดมสมบูรณ์ของดิน อีกทั้งเป็นการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ จึงทำให้ได้ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพ มีรสหวาน เนื้อหนา เหนียว เนียนละเอียด สีเหลืองอ่อน เนื้อแห้งมีความมันมากกว่าความหวาน เม็ดลีบเล็ก กลิ่นไม่รุนแรง ได้รับการยอมรับจากผู้โปรดปรานทุเรียนว่ามีความพิเศษเป็นเอกลักษณ์ จนได้รับเครื่องหมายสินค้า GI (Geographical Indication) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2557 แสดงถึงแหล่งเพาะปลูกที่เจาะ จงแค่ที่ใดที่หนึ่ง เป็นสินค้าเด่นของชุมชนซึ่งเป็น การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าการเกษตร โดยผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมาย GI ได้แก่ เกษตรกรผู้ผลิตในพื้นที่เป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งได้ร่วมกันรักษาคุณ ภาพมาตรฐานชื่อเสียงและอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นนี้เอาไว้
“ขณะนี้ทุเรียนป่าละอูซึ่งติดดอกมาตั้งแต่เดือน ม.ค.67 และจะเข้าสู่ตลาดได้ในช่วงปลายเดือน พ.ค.67 – ก.ค.67 เป็นช่วงเฝ้าระวังปริมาณการให้น้ำอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวแดดแรง และสภาวะอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำดูแลต้นทุเรียนมากขึ้น บางส่วนไม่ติดดอก/ร่วง ในปีนี้ คาดการณ์ผล ผลิตจะออกสู่ตลาดประมาณ 2,700 ไร่ จากทั้ง หมด 4,000 กว่าไร่ (รวมพื้นที่ GI) โดยช่วงต้นฤดูปลายเดือน พ.ค.67 จะออกประมาณ 10% ช่วงกลางฤดู กลางเดือน มิ.ย.67 ประมาณ 40% เดือน ก.ค.67 ราว 40% และช่วงปลายฤดูประ มาณ 10% ผลผลิตคาดการณ์ว่าจะได้เฉลี่ย 800 กก./ไร่ ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐาน ในภาพรวมอาจได้น้อยกว่าปี 66” นายพลกฤต กล่าวตอนท้าย.
Discussion about this post