เมื่อวันที่ 5 เม.ย.67 ที่ห้องประชุมราชภักดิ์ ชั้น 5 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ประจวบฯ มี นายแพทย์วรา เศลวัตนะกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เพื่อติดตามสถาน การณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อสำคัญในพื้นที่ โดย 10 ลำดับโรคที่พบผู้ป่วยสะสมสูงสุด ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค.67 ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ 1,226 ราย / ปอดบวม 933 ราย / ไข้เลือดออก 229 ราย / วัณโรค 183 ราย / มือ เท้า ปาก 177 ราย / อาหารเป็นพิษ 173 ราย / มาลา เรีย 131 ราย / โควิด 19 ผู้ป่วยสะสม 46 ราย / หนองใน 33 ราย และไข้ซิกา 24 ราย
นายแพทย์วรา เศลวัตนะกุล ได้รายงานสถาน การณ์โรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires’ Disease) ของ จ.ประจวบฯ ตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. – 18 มี.ค.67 มีรายงานผู้ป่วยสะสม จำนวน 5 ราย ได้แก่ สัญ ชาติเมียนมา 1 ราย (อาศัยในพื้นที่อำเภอสามร้อยยอด) และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอหัวหิน จำนวน 4 ราย ได้แก่ สัญชาติเนเธอร์แลนด์ 2 ราย สวีเดน 1 ราย และเยอรมนี 1 ราย ซึ่งมีประวัติเข้าพักในโรงแรม คอนโดมิเนียม เกสต์เฮาส์ และโครงการบ้าน ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ ได้ทำการสอบ สวนควบคุมโรค สำรวจเก็บตัวอย่างน้ำใช้ในบ้าน โรงแรมและที่พักของผู้ป่วยทั้ง 4 ราย สำรวจโครงสร้างระบบน้ำประปาของเทศบาลเมืองหัวหิน รวมถึงการหาจุดที่คาดว่าจะพบเชื้อในสถานที่ต่างๆ ที่สอดคล้องกับการเกิดโรคส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบ
ทั้งนี้ โรคลีเจียนแนร์ ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ เป็นโรคที่เกิดจากการที่ปอดติดเชื้อแบคทีเรียลีจิโอเนลลา โดยแบคทีเรียชนิดนี้สามารถพบได้ในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะในน้ำอุ่นประมาณ 32 – 45 องศาเซลเซียส ทั้งแหล่งน้ำตามธรรมชาติ อย่างแม่น้ำหรือทะเลสาบ และแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียลีจิโอเนลลาส่วนใหญ่มักได้รับเชื้อมาจากแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยเฉพาะในอาคารขนาดใหญ่และโรงแรม โดยลักษณะอาการเด่นที่มักพบได้ เช่น ปวดศีรษะขั้นรุนแรง ไข้ขึ้นสูง หายใจไม่อิ่ม ปวดกล้ามเนื้อ และไอ ถ้าเป็นมากอาจพบลุกลามเป็นโรคปอดบวม ช่องทางการติดเชื้อติดได้จากการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศ ความชื้น การสำลักน้ำที่มีเชื้อเข้าไปในปอดโดยตรง เป็นโรคที่ไม่ติดต่อจากคนสู่คน แต่ต้องเฝ้าระวังการระบาดไม่ให้ขยายวงกว้าง โดยขณะนี้ ร.พ.หัวหิน และ ร.พ.กรุงเทพ หัวหิน ได้ประสานความร่วมมือ หากพบผู้ป่วยรายใหม่ระหว่างวันที่ 28 มี.ค.-24 เม.ย. 67 จะมีการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อลีเจียนแนร์
นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯ กล่าวว่า ในระหว่างที่รอผลตรวจตัวอย่างน้ำ ขอให้เทศบาลเมืองหัวหิน ดูเรื่องของปริมาณคลอรีนน้ำประปาของเทศบาลให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แม้โรคนี้จะไม่ได้น่ากลัวมากนัก ไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คน แต่หากพบผู้ป่วยมากก็อาจจะกระทบต่อการท่องเที่ยวได้
ด้าน นางวาสนา ศรีกาญจนา นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหัวหิน-ชะอำ กล่าวว่า ขณะนี้ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการโรงแรมสถานที่พักซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ได้รับทราบแล้วเกี่ยวกับการพบผู้ป่วยโรคลีเจียนแนร์ ที่หัวหิน เพื่อเฝ้าระวังตรวจสอบระบบน้ำ ช่องน้ำทิ้งต่างๆ ภายในโรงแรม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ.
Discussion about this post