
เมื่อเวลา 11.00 น.ของวันที่ 5 เมษายน 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระ ทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รองปลัดกระ ทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีฯ ตำรวจสอบสวนกลาง ปทส. อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมควบคุมมล พิษ อบต.บางน้ำจืด สาธารณสุขจังหวัด กรมการปกครอง ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าตรวจสอบที่บริษัท บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 132 หมู่ที่ 2 ซอยกองพนันพล ถนนเอกชัย ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร ภายหลังจากที่เกิดกรณีบริษัทดังกล่าว นำกากแร่แคดเมียมมากักเก็บไว้เป็นจำนวนมากนั้น
ทั้งนี้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการพูดคุยกับตัวแทนโรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะลงพื้นที่ไปยังโกดังอาคารที่ใช้เก็บกากแร่แคดเมียม ซึ่งพบว่า มีปริมาณอยู่จริงเพียงแค่ 2,440 ตันเท่านั้น จากยอดที่ต้นทางแจ้งออกมามีมากถึง 15,000 ตัน และกากแร่ทั้ง หมดที่ตรวจพบนั้นก็เป็นกากแร่แคดเมียมที่ถูกทำลายสภาพแล้ว อีกทั้งยังถูกอัดอยู่กับปูน มีกากแร่แคดเมียมอยู่แค่ราวๆ 38 % ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ฯ เบื้องต้น ยังไม่พบผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสารกากแร่แคดเมียม และผลการนำกากที่เหลือจากการหล่อหลอมของโรงงานแห่งนี้ไปตรวจสอบ ก็ไม่พบว่ามีสารแคดเมียมปนเปื้อนอยู่แต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกระบวนการตรวจสอบยังคงต้องทำต่อไปอย่างละเอียด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงในการดำเนินคดีกับทางผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระ ทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวว่ามีบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก ขายกากแร่สังกะสีและกากแร่แคดเมียมที่ฝังกลบในพื้นที่จังหวัดตาก ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ส่งผลกระทบต่อประชาชนเนื่องจากกากแร่ดังกล่าวอาจเป็นสารก่อมะเร็งได้นั้น ทางนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รัฐมนตรีว่า การกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้มีความห่วงใยต่อความรู้สึกของพี่น้องประชาชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่โรงงาน ขอชี้แจงว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปี 2566 ซึ่งกระ ทรวงอุตสาหกรรมและจังหวัดสมุทรสาคร รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมหารือเพื่อแก้ ไขปัญหาดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 และมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 สั่งอายัดกากแคดเมียมและกากสังกะสีดังกล่าว
พร้อมทั้งสั่งระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ห้ามนำกากแคดเมียมและกากสังกะสีเข้าสู่กระ บวนการผลิต ให้ปรับปรุงแก้ไขโรงงานเก็บและดำเนินคดีทะเบียนโรงงานตามกฎหมาย
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทดังกล่าวได้รับใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมแร่สังกะสี และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานถลุงแร่สังกะสีและแคดเมียม ผลิตโลหะสังกะสีแท่ง สังกะสีอัลลอย โลหะแคดเมียม และผลิตโลหะทองแดง ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบโลหะกรรม แต่ยังคงไว้ซึ่งใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานโดยได้ฝังกลบ (Landfill) กากแร่ ซึ่งอยู่ในรูปของโลหะผสมกับปูนซิเมนต์และยึดเกาะกันเป็นเนื้อแน่นไว้ในบ่อเก็บกากแร่ ซึ่งปูพื้นและปิดทับด้วยวัสดุกันซึม (HDPE) และคอนกรีต ซึ่งเป็นไปตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตร การติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 บริษัทได้ทำการขนย้ายกากแคดเมียม กากสังกะสี ออกจากโรงงานเพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ โดยโรงงานในจังหวัดสมุทรสาครซึ่งประกอบกิจการหลอมหล่ออลูมิเนียมแท่ง อลูมิเนียมเม็ด จากเศษอลูมิเนียมและตะกรันอลูมิเนียม (SCRAP AND DROSS) และได้เริ่มทำการขนย้ายกากที่บรรจุในถุงบิ๊กแบค ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ถึงปัจจุบัน รวมประมาณ 13,450 ตัน
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาห กรรมและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทร สาคร ได้ตรวจสอบโรงงานดังกล่าว พบว่า มีการดำเนินการที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงได้อายัดกากแคดเมียม กากสังกะสี และส่วนของอื่น ๆ ไว้เพื่อตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎหมายแล้ว ส่วนบริษัทในพื้นที่อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เพื่อเก็บตัวอย่างกากแคดเมียม กากสังกะสี ตรวจวิเคราะห์ และสั่งการให้บริษัทฯ หยุดประ กอบกิจการในส่วนของนำกากแคดเมียม กากสังกะสี ออกนอกบริเวณโรงงาน และให้นำกลับมาดำเนินการให้เป็นตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดไว้ในเงื่อนไขใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานโดยเร่งด่วนต่อไป
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องของการตรวจสอบกระบวนการหรือขั้นตอนเส้นทาง การอนุญาตนำกากแร่แคดเมียมออกมาจากหลุมฝังกลบที่จังหวัดตาก แล้วขนส่งเคลื่อนย้ายมายังจังหวัดสมุทรสาครได้อย่างไรนั้น ทั้งหมดยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ขณะนี้ทราบข้อ มูลเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ทางต้นทางมีการยื่นข้อ มูลในระบบขอนำกากแร่แคดเมียมออกมาทั้งหมดราวๆ 15,000 ตัน แต่ตรวจพบที่ปลายทางคือ โรงงานแห่งนี้เพียงแค่ 2,440 ตัน ส่วนที่ขาดหายไปนั้น หายไปไหน หรือถูกนำไปทำอะไร หรือยังอยู่ที่หลุมเดิมหรือไม่ และ จากโรงงานนี้แล้ว จะเอาไปทำอย่างไร หรือ ส่งไปที่ไหนต่อนั้น ทั้งหมดยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบและไม่สามารถเปิดเผยได้ ขณะเดียวกันก็ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงผู้ที่มีส่วนเกี่ยว ข้องกับกระบวนการอนุญาตให้ขนย้ายกากแร่แคดเมียมออกมา โดยในส่วนของอุตสาหกรรมจังหวัดตาก คงต้องขอให้มีคำสั่งย้ายมาช่วยราชการที่กระทรวงฯ ก่อน ในระหว่างที่รอการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ซึ่งก็คาดว่าจะทราบผลภายในเร็ววันนี้ ส่วนกากแร่แคดเมียมทั้งหมดที่พบอยู่ในโรงงาน ให้ดำเนินการขนย้ายออกเพื่อส่งกลับไปยังต้นทางให้หมดภายใน 7 วัน
ด้านนายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทร สาคร กล่าวว่าในเรื่องของการประกาศภัยพิบัติ จริงๆแล้วยังไม่มีถึงขั้นประกาศภัยพิบัติของจังหวัดสมุทรสาคร เพียงแต่ว่าประกาศห้ามบุคคลเข้าไปในสถานที่เก็บ ก็คือ บริเวณโรงงาน กรณีเจ้าหน้าที่ของโรงงานจะเข้าไปปฏิบัติงานต้องได้รับอนุญาตจากตน เพื่อที่จะเข้าไปจัดเก็บแต่ไม่ได้ให้เข้าไปทำงาน เพราะฉะนั้นในโรงงานซึ่งมีลักษณะคล้ายโกดังและโรงหลอมในนั้น เราก็จะปิดโดยไม่ให้ใครเข้าไป แต่ไม่ได้ประกาศเป็นภัยพิบัติ ส่วนเรื่องสารปนเปื้อน ท่านพัชรวาท วงษ์สุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม ท่านก็เป็นห่วงส่งเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษได้มาตรวจสอบตั้งแต่เมื่อวาน ทั้งนี้ตรวจไม่พบไอระเหยสารเคมีในบรรยากาศ เพราะฉะนั้นที่เป็นห่วงกันว่าอาหารทะเลจะปนเปื้อนก็คงเป็นคนละเรื่องกัน เพราะของเรามีเฉพาะบริเวณนี้ แต่ลักษณะของกากแคดเมียม ณ เวลานี้จะเป็นสารที่อยู่ในคล้ายๆกับมีปูนซีเมนต์คลุมไว้อยู่เป็นสารที่ไม่ได้รับความร้อนไม่โดนชะล้างน้ำออกไป ก็ไม่มีการระเหยออกมา เพราะฉะนั้นรับประกันได้ว่าอาหารทะเลของสมุทรสาครสามารถทานได้หมดอีกส่วนหนึ่งทางสาธารณสุขจังหวัดก็ได้มาตรวจสอบคนที่ทำงานอยู่ด้านในโดยตรวจปัสสาวะว่าจะพบสารแคดเมียมหรือไม่ ซึ่งผลก็จะเร่งให้ออกภายใน 2-3 วัน.
ณัฐวุฒิ เอกจิโรภาส/สมุทรสาคร
Discussion about this post