
วันที่ 9/04/2567 จังหวัดมหาสารคาม เปิดศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 ภายใต้ชื่อการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทย ไร้อุบัติเหตุ”
วันนี้ (9 มีนาคม 2567) ที่บริเวณหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 โดยมี นางสุดารัตน์ แววบัณฑิต นายกเหล่ากาชาดจังหวัดมหาสารคาม นายนพสิทธิ์ อุดมสุวรรณกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นางสาวสุภลักษณ์ บุญเกิด รักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมหาสารคาม หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วม
โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จังหวัดมหาสารคาม ได้กำหนดการดำเนินงานป้องกันและ ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 ขึ้น ในระหว่างวันที่ 11- 17 เมษายน 2567 ภายใต้ชื่อการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทย ไร้อุบัติเหตุ” เป้าหมายเพื่อให้สามารถลดจำนวนอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลง เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง ระหว่างปี พ.ศ. 2564 – 2566 ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 เป้าหมายการเกิดอุบัติเหตุได้ไม่เกิน 20 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ ไม่เกิน19 ราย และมีผู้เสียชีวิตไม่เกิน 3 ราย
นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า รัฐบาลได้มีแนวนโยบายในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี เป็นช่วงที่ประชาชนเดินทางท่องเที่ยว และกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และสร้างความตระหนักให้กับประชาชน ในการขับขี่ยานพาหนะอย่างปลอดภัย
จังหวัดมหาสารคาม จึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขึ้น ณ ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม เพื่อเป็นจุดบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และเฝ้าระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องบูรณาการทุกภาคส่วน ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ มาตรการทั่วไป และมาตรการเน้นหนัก ได้แก่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดตามมาตรการ 10 มาตรการ โดยให้เน้นหนักในการควบคุมความเร็วและเมาสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะ และให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับรถจักรยานยนต์ รถโดยสารสาธารณะ และรถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสารท้ายกระบะที่อาจก่อให้เกิดอันตราย มีการควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่ หรือโดยสารยานพาหนะ การควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้บังคับใช้กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเคร่งครัด เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
ทีมข่าว///มหาสารคาม
Discussion about this post